ตัวตน "ปีศาจ" ที่อยู่ในคราบร่างของผู้เป็น "พ่อแม่"
ทศวรรษ 2490 คือช่วงยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมก้าวเข้าสู่สังคมเมืองและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างแนวคิด สมัยใหม่ กับ สมัยเก่า โดยนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ได้สะท้อนเรื่องราวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นผ่านตัวละครที่มีแนวคิดยึดมั่นถือมั่นในประเพณีดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า หัวโบราณ และตัวละครที่มีแนวความคิดสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจน
ความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในนิยาย แม้จะเป็นสังคมไทยที่อยู่ในช่วงราว 77 ปีก่อนหน้า แต่เมื่อมองทับซ้อนกับสภาพสังคมปัจจุบันแทบหาความแตกต่างไม่เจอ เพราะกลุ่มคนบางส่วนที่ยึดถือในแนวความคิดดั้งเดิมท่ามกลางสังคมที่มีความเป็นพลวัตยังคงมีอยู่
รัชนี นับว่าเป็นตัวละครหลักของนิยายเรื่องนี้ เธอเป็นหญิงสาวที่เกิดในครอบครัวที่มีชาติตระกูล เรียกได้ว่ามีเชื้อเจ้าและได้รับการอบรมสั่งสอนราวกับเติบโตมาในวังจึงทำให้ครอบครัวของเธอล้วนแล้วแต่มีความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นแบบ โลกเก่า เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่เว้นแม้แต่ผู้เป็น พ่อแม่ ของเธอเอง
ความเชื่อในยุคสมัยก่อน ผู้หญิงมักถูกกีดกันจากการศึกษาและถูกสั่งสอนให้อยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือนเพื่อทำหน้าที่ปรนนิบัติสามี ถูกจับคลุมถุงชนเพื่อรักษาความเป็นชาติตระกูลของผู้ดีและสายเลือดอันสูงส่งเอาไว้ หากจะทำอะไรที่ดูเกินกว่าคำว่า กุลสตรี ย่อมถูกตำหนิและนินทา
นอกจากแนวคิดโลกเก่าที่ยังคงฝังรากอยู่ลึก การกระทำที่สะท้อนออกมาผ่านคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อแม่ซึ่งควรจะเป็นบุคคลที่เข้าใจลูกมากที่สุดก็ทำให้ทั้งรัชนีและดรุณี (พี่สาว) เป็นทุกข์ โดยดรุณีถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับเศรษฐี แต่สุดท้ายกลับถูกนอกใจทำให้เธอไม่มีความสุข ส่วนรัชนีถูกกีดกันไม่ให้คบหากับเพื่อนที่ไม่ได้มีชาติตระกูลเทียบเท่า สั่งสอนและยัดความคิดราวกับต้องการให้รัชนีเป็นเพียง นกน้อยในกรงทอง เป็นเพียงผู้หญิงที่ต้องอยู่แต่บ้าน ทำงานรับใช้สามีไปวัน ๆ เท่านั้น แต่ยังโชคดีที่รัชนียังได้มีโอกาสได้รับการศึกษาในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบต่างจากดรุณี
"เกิดมาเป็นลูกผู้หญิง เราเป็นคนอาภัพ อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ใหญ่ เมื่อแต่งงานก็อยู่ในอำนาจของผัว น้องเล็กก็รู้ว่าพี่แต่งงานไม่ใช่เพราะความรักอะไร ผู้ใหญ่จัดการอย่างไรเราก็ยอมรับตามแบบอย่างเด็กที่อยู่ในโอวาท" เป็นถ้อยคำของดรุณีที่ตัดพ้อกับน้องสาวเมื่อตนต้องระทมทุกข์กับชีวิตที่อยู่ในกรอบ ต้องคอยทำตามคำสั่งและสิ่งที่พ่อแม่จัดหามาให้
บางทีคำว่า "ปีศาจ" ในเรื่องนี้อาจหมายถึงแนวความคิดที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมพลวัต และความคิดเหล่านั้นก็ได้มาสิงอยู่ในคราบร่างของพ่อแม่ของรัชนีนั่นเอง
แม้ปัจจุบันแนวความคิดแบบโลกเก่าค่อย ๆ เลือนหายไปบ้างแล้ว ผู้หญิงสามารถมีหน้ามีตาและออกไปทำงานนอกบ้านได้ แต่ยังมีบางครอบครัวที่ยังยึดเอาความคิดเหล่านี้เอาไว้อยู่เพื่อบังคับให้ลูก ๆ เป็นตามสิ่งที่ตนต้องการ พ่อแม่บางคนยังคิดว่าสิ่งที่ตนจัดหามาให้นั้นดีที่สุดแล้วโดยไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของลูกก่อน หรือการอบรมสั่งสอนที่ทำไปเพื่อให้อยู่ในกรงไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยง ทั้ง ๆ ที่ผู้เป็น พ่อแม่ ไม่ควรเป็น ปีศาจ แต่กลับยังยึดให้ ปีศาจ สิงคราบร่างของตนอย่างยินดีเสียอย่างนั้น
---
ที่มา
เปรียบพ่อแม่คือ ปีศาจ ของลูก เมื่อบ้านไม่ใช่ Comfort Zone
---
About the author: ฬ. Jula