ชีวิตของผู้หญิงในเงาแห่งความกลัว: Femicide และความสำคัญของการตระหนักรู้
เคยเดินที่เปลี่ยว ๆ ตอนกลางคืนเพื่อกลับบ้านแต่กลับไม่รู้สึกปลอดภัยไหม เคยต้องคอยระวังกล้องที่อาจติดตามสถานที่สาธารณะเพื่อแอบถ่ายหรือเปล่า หรือต้องระมัดระวังตัวเองแม้แต่นอนเล่นอยู่ในบ้านเพราะกลัวว่าใครจะบุกเข้ามาทำร้ายหรือไม่
ความรู้สึกหวาดกลัวเหล่านี้มักจะมีแต่ "ผู้หญิง" ด้วยกันเท่านั้นที่จะเข้าใจ มันคือความไม่รู้สึกปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตในสังคมที่ล้อมรอบไปด้วยข่าวข่มขืน ทำร้ายร่างกาย หรือเลวร้ายที่สุดคือการถูกฆาตกรรม ซ้ำร้ายเหตุเหล่านี้ดันเกิดขึ้นกับเฉพาะผู้ที่เป็น "เพศหญิง" เท่านั้นด้วย
ในบทความก่อนหน้านี้เราเคยได้อธิบายคำว่า misogyny ซึ่งหมายถึงความเกลียดชังที่มีต่อเพศหญิงไปแล้ว (ที่มา: "ใคร ๆ ก็เกลียดผู้หญิง" ภาพจำที่ผลิตซ้ำสร้างความเกลียดชังและอคติทางเพศ) ทว่าความเกลียดชังเหล่านั้นกลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน แรก ๆ อาจเป็นเพียงเรื่องตลกที่สร้างเสียงหัวเราะ มีทั้งมีมและภาพการ์ตูนที่สื่อถึงการยิงผู้หญิงอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการล้อเลียนนิสัยระมัดระวังตัวของผู้หญิงที่มองดูว่าเกินเหตุ อย่างการเข้าพักโรงแรมที่มีวิดีโอสอนการป้องกันตัวเมื่อไปพักต่างถิ่นตัวคนเดียว ไม่ว่าจะต้องล็อคประตูอย่างแน่นหนา ตรวจสอบกล้องแอบถ่ายหรือตรวจสอบกระจกในห้องน้ำ
แต่พอทุกอย่างกลายเป็นเรื่องตลก คนเลยมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรุนแรงอะไร ทั้ง ๆ ที่ข่าวที่เกิดขึ้นหรือสถิติการถูกทำร้ายร่างกายของเพศหญิงนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในบทความนี้จึงอยากจะอธิบายคำว่า "Femicide" ว่าเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ให้ความสำคัญ และไม่ควรมองว่ามันเป็นเรื่องน่าขัน รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด Femicide เพื่อให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนหลายชีวิตของผู้หญิงต้องสังเวยให้กับความเกลียดชังไม่รู้ที่มาเหล่านั้น
Femicide คือคำที่ใช้เพื่ออธิบายการฆ่าผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเพราะความเกลียดชังทางเพศ คำนี้มีการใช้ครั้งแรกในปี 1976 โดยนักสตรีนิยม Diana Russell เพื่อเน้นถึงการฆ่าที่เกิดจากความเกลียดชังหรือการดูหมิ่นผู้หญิง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเพื่อตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง
ทว่าความเกลียดชังเหล่านั้นไม่สามารถหาต้นสายปลายเหตุที่แน่ชัดได้ว่าทำไมการเกิดเป็นเพศหญิงก็ต้องโดนเกลียดและโดนกระทำก่อนเสมอ อย่างในบทความ misogyny ที่ได้กล่าวถึงการ ล่าแม่มด ที่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อคริสตจักรจนต้องจับเพศหญิงที่มีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายกับแม่มดมาสังหาร นั่นก็นับว่าเป็น Femicide แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถรู้แน่ชัดได้ว่าเป็นเพราะอะไร หรือแค่เกิดเป็นผู้หญิงก็สมควรโดนเกลียด?
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเพศหญิง จากสถิติแล้วเกิดในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ฝ่ายหญิงมักถูกกระทำความรุนแรงและต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ทั้งร่างกายและพละกำลังที่ด้อยกว่าย่อมไม่มีทางสู้กลับได้ แต่กลับไม่มีใครกล้ายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพียงเพราะมองว่าเป็นเรื่องของคนใน "ครอบครัว"
ซึ่งการคิดแบบนี้นั่นแหละถึงทำให้ผู้หญิงต้องถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและออกข่าวจนกลายเป็นภาพชินชาในสังคม
สิ่งที่น่าหวาดหวั่นสำหรับอนาคตไม่เพียงแค่การไม่ตระหนักรู้ถึงการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ถูกกระทำและมองว่าเป็นเพียงเรื่องในครอบครัวที่ตัวบุคคลนอกไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการมองว่าการกระทำความรุนแรงต่อเพศหญิงเป็นเรื่องตลกขบขันจนต้องสร้างมีมหรือถ่ายทอดออกมาผ่านภาพการ์ตูนล้อเลียน ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นหนึ่งในการส่งแนวคิดความเกลียดชังต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุดแล้ว
---
ที่มา
UrbanCreature: ใน 1 วันมีหญิงไทยถูกทำร้ายหรือละเมิดทางเพศมากกว่า 7 คน สถิติความความรุนแรงต่อผู้หญิง
กรุงเทพธุรกิจ: Femicide เมื่อเหยื่อถูกฆ่าเพียงเพราะเป็น ผู้หญิง
---
About the author: ฬ. Jula