แชร์

หนังสือราคาแพง ทรัพยากรความรู้ล้วนมีราคา

อัพเดทล่าสุด: 16 มิ.ย. 2024
268 ผู้เข้าชม

แม้แต่ความสุขเล็ก ๆ ยังยากจะเจียดเงินมาซื้อได้ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่ของแพงแผ่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ค่าครองชีพไม่เพิ่ม เงินกินและใช้แต่ละเดือนต้องมีไว้สำหรับเรื่องจำเป็นเท่านั้น บางคนเมื่อหักลบกลบหนี้แล้วก็แทบไม่เหลือเงินเก็บเลยด้วยซ้ำ

สิ่งของสะสมต่าง ๆ ที่ซื้อเก็บเอาไว้ให้สุขใจกลับกลายเป็นของฟุ่มเฟือย กระทั่งคลังความรู้อย่าง "หนังสือ" ยังราคาแพงจนเกินค่าแรงต่อวันไปไกล

ในอดีต หนังสือเคยเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนความรู้และเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลังจากเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ หนังสือกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม ถึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า e-book เข้ามาเพื่อปรับตัวในยุคเทคโนโลยีแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถเทียบได้กับความรู้สึกยามสัมผัสกับกระดาษ การต้องลุ้นตลอดเวลาเมื่อจำนวนหน้าค่อย ๆ ลดลงจนเห็นแต่ปกหนังสือหน้าสุดท้าย หรือความรู้สึกที่อ่านจบเล่ม พับปิด ก่อนจะวางกลับยังบนชั้นวางของมัน

น่าเสียดาย ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ทำให้แหล่งข้อมูลความรู้เป็นทรัพยากรราคาแพงและไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป

ในสมัยที่เรายังอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา การเข้ามาของแพลตฟอร์มประเภทคลิปวิดีโอสั้น ๆ อย่าง TikTok ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่เฉพาะกลุ่มเลยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ประกอบกับยังมีสมุดบันทึกการอ่านให้ทำ แม้ในตอนนั้นจะไม่ชอบและมองไม่เห็นประโยชน์ของการบันทึกการอ่านเลยก็ตาม แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราชอบอ่านโดยไม่รู้ตัว

พื้นที่ห้องสมุดข้าง ๆ โรงเรียนเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ยังจำได้ เรามักจะไปนั่งอ่านหนังสือบริเวณนั้นเป็นประจำหลังเลิกเรียนเพื่อรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ทว่าปัจจุบันนี้ห้องสมุดนั้นได้หายไปแล้ว บรรยากาศเดิม ๆ ที่ยังสัมผัสได้กลับเหลือเพียงแค่ความทรงจำ พร้อม ๆ กับคลังความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ฟรีก็หายไปด้วย

นี่อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หนังสือในยุคนี้ราคาแพงขึ้นและมองมันเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย

ต้องยอมรับว่าสมัยนี้ เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงโทรศัพท์ได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ผู้ปกครองเลือกที่จะซื้อโทรศัพท์ให้เด็กเล่นเองเพราะโทรศัพท์เล็ก ๆ เครื่องเดียว สามารถเข้าถึงได้ทั้งการ์ตูน มังงะ นิยาย หรือโซเชียลมีเดีย ต่างจากการซื้อหนังสือหนึ่งเล่ม ก็จะมีเนื้อหาอยู่แค่ไม่เกินจากหน้าปกเท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่วัยนี้ควรจะเรียนเขียนอ่านเพื่อทำความเข้าใจสังคมและจัดการสภาวะอารมณ์ของตัวเองก่อน แต่พอมองว่าหนังสือพวกนี้กลายเป็นของฟุ่มเฟือย มันเลยทำให้ประชากรเริ่มด้อยคุณภาพลง

สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่าการรับมือกับปัญหาผู้ใหญ่เยอะขึ้นด้วยการออกนโยบายต่าง ๆ หรือมีบริการที่เอื้อให้กับผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กที่เกิดน้อยก็ยังเป็นหนึ่งในประชากรสำคัญที่จะสร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

หากรัฐบาลสามารถสนับสนุนกับการเรียนของเด็กได้มากกว่านี้ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กลับมาอีกครั้ง มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างสวนสาธารณะและห้องสมุดฟรีเพิ่มขึ้นอีก มันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยที่เด็ก ๆ หยิบจับกระดาษของหนังสือแทนหน้าจอแท็บเล็ต

เมื่อคนมีความรู้มากขึ้น ประชากรมีคุณภาพ ประเทศก็จะสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิมในทุก ๆ ด้าน รวมถึงมุมมองต่อหนังสือกก็จะไม่กลายเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยอีกต่อไป

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy