แชร์

คุณค่าของศิลปะเหลืออยู่ที่ตรงไหน เมื่อคนเลือก AI มากกว่าศิลปิน

อัพเดทล่าสุด: 18 มิ.ย. 2024
273 ผู้เข้าชม

เมื่อพูดถึง 'ศิลปิน' ผู้สร้างสรรค์ผลงาน 'ศิลปะ' คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าของผลงานเท่าที่ควร หากใครอยากเรียนต่อทางด้านนี้ สิ่งแรกที่ผู้ปกครองจะบอกเลยคือ "เรียนไปทำไม จบไปก็ตกงาน" อีกทั้งเงินที่ได้รับยังน้อยกว่าเรทของต่างประเทศอยู่มากโข ภาพที่คิดของคนที่ไม่เห็นคุณค่างานเหล่านี้คงมองเป็นภาพเดียวกันว่า "แค่ลาก ๆ ปาด ๆ ถู ๆ ไม่กี่ทีก็ได้ภาพออกมาแล้ว"

หนำซ้ำเทคโนโลยีในปัจจุบันยังสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อให้ 'ใครก็ได้' ที่ไม่มีฝีมือสามารถสร้างภาพออกมาให้ใกล้เคียงกับศิลปิน ผู้ตรากตรำเรียนและฝึกฝนฝีมืออยู่หลายปีได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพียงแค่ 'prompt' ลงไปเท่านั้น จากเดิมที่มองว่างานศิลปะสร้างขึ้นมาได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว พอมี AI เข้ามาอีกยิ่งทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการสร้างงานศิลปะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเดิมเพียงแค่ใช้โปรแกรมคีย์สิ่งที่ต้องการ

ไม่จำเป็นต้องมานั่งผสมสี ดราฟต์ภาพ ฝึกวาดอนาโตมี่ หรือไม่จำเป็นต้องออกไปอยู่กับธรรมชาติเพื่อเก็บภาพที่ตนมองเห็นมาวาดลงผืนผ้าใบให้ยุ่งยากดังที่ศิลปินทำ

เกิดคำโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับงานของ AI ที่สร้างขึ้นว่าอาจแย่งพื้นที่ศิลปินที่วาดเองหรือเปล่า เราสามารถบอกได้เลยว่า "แย่งแน่นอน" เพราะ "คนเริ่มเห็นคุณค่าของศิลปะน้อยลงยังไงล่ะ"

ตั้งแต่ที่มี AI จากหลายบริษัทให้เลือกใช้ได้อย่างแพร่หลาย ผู้คนเรียกตัวเองว่า 'ศิลปิน' ผู้สร้างสรรค์งานจาก AI ง่ายมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเพียงแค่คุณนั่ง prompt เพื่อขอในสิ่งที่ต้องการเท่านั้นเอง แถมยัง Defended ให้กับ AI ว่า เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ไม่อยากให้ด้อยค่างานเหล่านี้เพราะหากไม่มีผู้ prompt ก็ไม่มีผลงานขึ้นมา

หารู้ไม่ว่างาน AI ที่สร้างขึ้นจาก prompt นั้นไม่ได้เป็นการ 'สร้างใหม่' แต่มันคือการผนวกรวม หยิบนั่นจับนี่มาผสมผสานกันจาก ฐานข้อมูล ที่มีอยู่ โดยฐานข้อมูลที่ว่านั้นก็มาจากภาพของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยสองมือของตนเอง

ระบบของ AI มันคือการประมวลผลจาก prompt ที่เราใส่ไปเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่มันมี หากเป็นแบบนั้นแล้ว ผลงานจาก AI จะสามารถเรียกว่า 'สร้างขึ้นมาเอง' ได้เต็มปากเหมือนฝีมือของมนุษย์ได้ยังไง?

ซ้ำร้ายปัญหาของการใช้ AI ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เพราะฐานข้อมูลที่ป้อนให้ AI มันคือการคัดลอกโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากศิลปินตัวจริง รวมถึงละเมิดลิขสิทธิ์จนถูกฟ้องร้องไปแล้วด้วยซ้ำ ส่วนผู้ที่ไม่ทราบถึงความจริงในข้อนี้ยังมีการนำภาพที่ Generated โดย AI ไปสร้างรายได้ต่อเป็นกอบเป็นกำ ทั้ง ๆ ที่คุณแทบไม่ได้ลงแรงอะไรเลยนอกจากนั่งเทียนเขียน prompt ลงไป

งานศิลปะที่แท้จริงคือการสร้างขึ้นมาจากอารมณ์ จิตวิญญาณ ประสบการณ์ความรู้และฝีมือของผู้สร้างต่างหาก หากใครได้เห็นงานศิลปะที่วาดด้วยมนุษย์จริง ๆ ตามนิทรรศการต่าง ๆ อย่างของ Monet ยามมองผลงานภาพวาดของเขาจะรู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณอะไรบางอย่าง พร้อมทั้งมีสตอรี่ที่น่าสนใจ เป็นตัวสร้างคุณค่าให้กับผลงาน เขาคือผู้ที่ออกไปสังเกตแสงแดดทุกเช้าเพื่อเก็บภาพบรรยากาศสวนบ่อน้ำที่เขามองเห็นมาถ่ายทอดเป็นภาพวาดจนตาเป็นต้อ หรืองานภาพถ่ายที่ช่างภาพต้องออกเดินทางไปตามสถานที่นั้น จัดเฟรม รู้มุมกล้อง รู้แสงที่ตกกระทบและองค์ประกอบโดยรวมที่จะปรากฏอยู่ในเฟรมภาพของตน แม้กระทั่งงานปั้น 3D เอง ถึงแม้จะใช้เทคโนโลยีในการสร้าง แต่ความรู้ดั้งเดิมก็ต้องมีทั้งแสง สีและเงา มีกระบวนการร่าง คิด ออกแบบหลายขั้นตอนกว่าจะได้เป็นผลงานสำเร็จหนึ่งชิ้นให้เราได้เห็นกัน

แต่เพราะว่าผลงานเสร็จสิ้นแล้วมันดูง่ายเกินไป คนทั่วไปที่มองภาพเหล่านั้นไม่มีทางรู้ถึงเบื้องหลังการทำงาน เลยทำให้คิดว่าการทำงานศิลปะมันง่าย และ 'ใคร ๆ ก็ทำได้'

ในอนาคตข้างหน้า หากศิลปะยังคงถูกละเลย ไม่มีใครให้ค่าหรือราคากับมันอีก แล้วแรงใจของผู้สร้างสรรค์จะคงเหลืออยู่เท่าไหร่? ประกอบกับค่านิยมของสังคมที่เชิดชูอาชีพเด่น ๆ มากกว่าจนลืมไปว่าสิ่งของรอบตัวเราถูกออกแบบและสรรค์สร้างมาจากศิลปินทั้งสิ้น ทำให้อาชีพศิลปินจึงถูกจัดเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้

สรุปแล้ว คุณค่าของศิลปะจะเหลืออยู่ที่ตรงไหนกัน ถ้าคนเลือก AI มากกว่าศิลปิน?

เมื่อไม่มีผู้สร้างสรรค์ผลงานเหลืออยู่ AI ก็จะไม่มีฐานข้อมูลให้สร้างผลงานใหม่ ๆ ไม่รู้อีกกี่สิบปีข้างหน้านี้ วงการศิลปะอาจถูกแช่แข็ง ไม่มีอารมณ์ ไม่แสดงสุนทรียะ กลายเป็นหุ่นยนต์ทื่อ ๆ ไร้ชีวิตชีวา ไร้ความน่าดึงดูด กลายเป็นดินแดนรกร้างไร้ซึ่งความสุขอีกต่อไป

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy