โปรตีนไม่เพียงพอ สารอาหารสำคัญที่หลายคนมองข้าม
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญกับการรับประทานครบ 5 หมู่ตามที่ร่างกายต้องการ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และคาร์โบไฮเดรต ล้วนมีส่วนช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย สามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บในยามร่างกายเริ่มร่วงโรยตอนวัยชรา
แม้เราจะรู้สึกว่าวัน ๆ นึงได้กินสารอาหารครบ 5 หมู่แล้วเพราะรู้สึกอิ่มก็ตาม แต่ความเป็นจริง สารอาหารที่ได้รับอาจไม่เพียงพอกับร่างกายเลยด้วยซ้ำ ซึ่ง 'โปรตีน' เป็นสารอาหารประเภทที่คนมักมองข้ามมากที่สุด
โปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย มันมีบทบาทในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การผลิตเอนไซม์และฮอร์โมน รวมถึงมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเป็นแหล่งพลังงานสำรองเมื่อร่างกายขาดแคลนคาร์โบไฮเดรตและไขมันด้วย
เวลาคนเราออกกำลังกาย ร่างกายมักจะใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นอันดับแรก เพราะสามารถดึงออกมาใช้ได้ง่ายที่สุด สังเกตได้ชัดตอนนักกีฬาขาดพลังงานก็ต้องกระตุ้นด้วยการดื่มน้ำหวานเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสามารถกระปรี้กระเปร่าได้อยู่ รองลงมาคือไขมัน ซึ่งถูกเก็บไว้ในรูปแบบของไกลโคเจน เป็นพลังงานระยะยาวที่สามารถใช้ได้นานกว่าคาร์โบไฮเดรต ส่วนลำดับสุดท้ายคือโปรตีน โดยจะแตกตัวออกมาในรูปของกรดอะมิโน
เหตุที่โปรตีนนำออกมาใช้ในลำดับสุดท้ายเพราะการใช้โปรตีนไม่ต่างจากการเฉือนกล้ามเนื้อตนเองทิ้ง มวลกล้ามเนื้อที่สลายไปเรื่อย ๆ จะทำให้ร่างกายเกิดผลกระทบต่าง ๆ เช่น หากเกิดการขาดโปรตีนในเด็ก จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผิวหนังและเส้นผมมีปัญหา ทำให้ผมขาดร่วงง่ายและผิวหนังหยาบกร้าน ไม่มีความชุ่มชื้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบได้ง่ายขึ้น
โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนซึ่งมีอยู่ 20 ชนิด แบ่งออกเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้และต้องได้รับจากอาหาร และกรดอะมิโนไม่จำเป็นที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้
ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงและหลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทว่าการรับประทานอาหารในแต่ละวันแม้จะเป็นปริมาณที่เยอะแล้ว แต่สารอาหารกลับไม่เพียงพอเพราะยังไม่ได้รู้ถึงโภชนาการของอาหารแต่ละประเภท
ในหนึ่งวันมนุษย์ควรได้รับโปรตีนอย่างน้อย 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากใครหนัก 50 กิโลกรัมก็ต้องกินโปรตีนในปริมาณเทียบเท่าหรือมากกว่าที่ต้องการ แต่การคำนวณสารอาหาร ไม่ใช่ว่าเนื้อแต่ละประเภทจะมีปริมาณโปรตีนเท่ากันเสมอไป อย่างอกไก่ไร้หนัง มีประมาณโปรตีนถึง 31 กรัมต่ออกไก่ 100 กรัม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเนื้อสะโพกไก่ กลับมีโปรตีนเพียงแค่ 23 กรัมต่อสะโพกไก่ 100 กรัมเท่านั้น อีกทั้งเนื้อส่วนสะโพกยังมีปริมาณไขมันที่มากกว่าอกไก่ซึ่งทำให้แคลอรี่สูงกว่าแม้จะกินง่าย อร่อยนุ่มละมุนลิ้นมากกว่าอกไก่แห้ง ๆ ก็ตาม
และเพราะเจ้าไขมันที่แทรกตามเนื้อสัตว์ทั้งหลายนี่แหละ เป็นตัวการที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มเร็วขึ้นทั้ง ๆ ที่สารอาหารไม่เพียงพอ วิธีสังเกตง่าย ๆ หากร่างกายเรารับโปรตีนไม่พอคือจะไม่รู้สึกอิ่มแบบสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงอาจมีความรู้สึกที่อยากกินของหวานหรือขนมอื่น ๆ ต่อนั่นเอง
โดยอาหารที่ซื้อทั่วไปตามร้านค้า เราจะเห็นชัดเจนว่าให้ปริมาณน้อยและใส่น้ำมันเยอะ มันจึงไม่แปลกเลยที่คนเรารู้สึกอิ่มง่ายและคิดว่าร่างกายได้รับโปรตีนต่อวันเพียงพอแล้ว ส่วนโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถเลือกซื้อเพิ่มได้ก็มีราคาแพงจนเกือบจะเทียบเท่ากับข้าวหนึ่งจาน
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอาหารที่หาซื้อง่ายแต่สารอาหารไม่ครบและราคาโปรตีนทางเลือกสูงเกินไป จึงส่งผลให้คนเราไม่สามารถรับสารอาหารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อยากให้มองว่าการกินโปรตีนไม่ครบไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะผลกระทบต่อร่างกายที่ขาดโปรตีนมันแย่กว่าที่คิดเสียอีก
---
About the author: ฬ. Jula