เข้าใจอาการ Burnout และวิธีการเรียนรู้ที่จะรับมือ
เมื่อเข้าสู่หน้าฝนอย่างเต็มรูปแบบ บรรยากาศในย่านเมืองสำหรับผู้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะย่อมไม่รู้สึกถึงความโรแมนติก มีแต่ความวุ่นวาย ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนหลังเลิกงานพร้อมฝูงชนชาวออฟฟิศจำนวนมากมาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างพร้อมเพรียง
ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางที่ใช้เวลานานเกินหนึ่งชั่วโมงขึ้นไปก็แทบจะกินเวลาชีวิตไปมากโข จึงไม่แปลกเลยสำหรับคนที่ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมแบบนี้ทุก ๆ วันของการทำงานจะรู้สึก Burnout ได้อย่างง่ายดาย และจากผลสำรวจก็เป็นไปตามคาด โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยผลวิจัยทางการตลาดเรื่อง Burnout In The City ว่าคนกรุงเทพกว่า 69% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน คิดเป็น 7 ใน 10 ส่วนของคนกรุงเทพกว่า 5.5 ล้านคน
Burnout คือ ภาวะเหนื่อยล้าทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งเกิดจากการทำงานหนักหรือความเครียดสะสมเป็นเวลานาน มักส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพชีวิต
ลักษณะอาการของ Burnout จะรู้สึกเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ เหนื่อยตลอดเวลาจนไม่มีพลังงานทำกิจกรรมอื่น ๆ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิดง่ายและไวต่อความเครียด เมื่อมีความเครียดสะสมก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสามารถในการตัดสินใจและคิดวิเคราะห์แย่ลง รู้สึกเบื่อหน่ายกับงาน ไม่มีความสุขหรือความพึงพอใจในการทำงานนอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารร่วมด้วย
การอยู่แต่สภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เป็นสาเหตุของการ Burnout และยากที่จะปลีกตัวออกมาพักได้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้คนกรุงเทพยังอยู่ในภาวะหมดไฟเรื่อย ๆ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันจึงเป็นทางออกที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด ในเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมรอบตัวได้โดยตรง ก็ต้องหาวิธีพักทางอื่น แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นมาได้บ้าง
วิธีการรับมือกับ Burnout ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือต้องจัดตารางเวลาของตนเองให้แยกกับงานอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้ทั้งร่างกายและสมองละเว้นจากความเครียด จากนั้นค่อยหันไปใช้เวลากับกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทั้งนี้ การตัดขาดจากโซเชียลหรือการทำ Social Detoxing นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญ ด้วยข้อมูลบนโลกออนไลน์มีจำนวนมหาศาล การที่เราเลื่อนหน้าจอเพื่ออ่านแต่ละโพสต์ก็เป็นการใช้ความคิดและทำให้เผลอเครียดไปกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว ฉะนั้นลดการเล่นโซเชียลลงได้น่าจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น รู้จักขยับร่างกายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ขอแค่เพียงไม่ต้องอุดอู้อยู่กับหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาก็นับว่าโอเคแล้ว นอกจากจะช่วยลดความเครียดก็ยังเป็นการเพิ่มเอเนอจี้ให้ตัวเราสามารถมีแรงมาลุกขึ้นสู้ต่อไป
นอกจากการวิธีการรับมือกับอาการหมดไฟที่เริ่มจากตัวเองแล้ว การเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็เป็นส่วนช่วยในการระบายความเครียดที่สะสมอยู่ให้ค่อย ๆ ออกไปด้วย
จากวิธีการรับมือที่กล่าวไปข้างต้นนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนและคนเรามักจะพอรู้กันอยู่แล้วว่าต้องวางมือจากการทำงานและหันเวลาไปใช้กับการผ่อนคลายให้มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนที่น้อยลงเนื่องจากงานมีความเครียดและต้องใช้ความต่อเนื่อง จึงยากที่จะละเว้นจากการทำงานได้ง่าย ๆ หรือบางกรณีสำหรับพนักงานที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ แค่ต้องใช้เวลาอยู่บนรถก็กินพลังงานชีวิตไปมากแล้ว ทำให้กว่าจะถึงบ้านก็หมดแรงที่จะหาหนังสือมาอ่านเพื่อให้ตัวเองผ่อนคลาย นอกจากการเล่นโซเชียลก็แทบไม่มีอะไรสร้างความสุขได้เทียบเท่า การทำ Social Detoxing จึงกลายเป็นเรื่องยาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมไม่ค่อยเอื้อให้ทุกคนมีความสุขอยู่แล้ว การเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน รู้จักปรับตัวและพยายามหาความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันอาจจะช่วยให้ภาวะหมดไฟจากการทำงานสามารถคงตัวหรือดีขึ้นทีละนิดก็ได้
---
ที่มา
MedPark: ภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes)
THE MOMENTUM: ภาวะหมดไฟในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เมื่อคนกรุงเทพฯ กว่า 69% มีภาวะ Burnout
---
About the author: ฬ. Jula