'การเดินทางเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด' แต่รัฐไม่อุ้มชู แล้วความรู้จะคงเหลืออยู่ได้อย่างไร
น่าเศร้าใจที่ข่าวทยอยการปิดตัวกิจการเกี่ยวกับหนังสือมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ หรือร้านหนังสือรายย่อย มีทั้งแบบเปิดให้เช่าและซื้อเก็บ จุดเด่นของร้านเหล่านี้คือการได้อ่านหนังสือนอกกระแส ผลงานหนังสือทำมือ นักเขียนหน้าใหม่ หรือนักอ่านขาจรที่อยากลองเช่าหนังสือถูกใจดูสักเล่มพอเป็นพิธีเพื่อความบันเทิงชั่วครั้งคราว
แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เป็นพิษมาอย่างยาวนาน ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นได้เลยแม้ในยุคสมัยที่ได้รัฐบาลใหม่ สื่อสิ่งพิมพ์กลับเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับการสนับสนุนและถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปแล้ว
ค่ากระดาษ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงค่าแรงงานทุก ๆ ด้านสำหรับการผลิตหนังสือเล่ม ส่วนประกอบเหล่านี้ล้วนแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ค่าหนังสือเพิ่มสูงไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ค่าแรงกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม การเข้าถึงความรู้อย่างง่ายที่สุดผ่านหนังสือกลับกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แม้ว่าจะมี E-book มาทดแทนเพื่อให้สะดวกต่อการอ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น ทว่าการจับกระดาษ ได้สัมผัสรูปเล่มมันดีต่อการพัฒนาการมากกว่า โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการการสัมผัสของจริงมากกว่าภาพที่เห็นผ่านหน้าจอ
แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแขนงไหนก็ถูกทอดทิ้งเพราะพิษเศรษฐกิจทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบางพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานครที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือและศิลปะได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ได้แก่ หอสมุดเมืองกรุงเทพ ห้องสมุดเด็กปฐมวัย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TK Park อุทยานการเรียนรู้ Neilson Hays Library The Reading Room หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดศิลปะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีและห้องสมุดเต่าทอง และห้องสมุดสถาบันเกอเธ่ฯ
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ตามขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า MRT ที่เปิดพื้นที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างเดินทางแก่ประชาชน โดยมีพื้นที่สถานีจตุจักรมีห้องสมุดออนไลน์ให้สามารถเข้าใช้บริการได้ฟรี และสถานีพหลโยธินที่เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะ ล่าสุด กำลังจะเริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ของสถานีคลองเตยเพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ฟรีอีกด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่เฉพาะกรุงเทพมหานครยังเป็นแค่จุดเล็ก ๆ เท่านั้นสำหรับการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สิ่งที่ควรทำมากกว่านี้คือต้องมีการพัฒนาไปจนถึงระดับมหภาค ไม่ใช่เป็นพื้นที่ให้คนบางกลุ่ม แต่ต้องเป็นพื้นที่สำหรับ "ทุกคน" โดยเฉพาะผู้คนชายขอบที่ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงหรือได้รับความรู้ฟรี ๆ ได้อย่างง่ายดายนักสามารถเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์และงานเขียนนอกกระแส รวมถึงเหล่านักเขียนหน้าใหม่ได้ร่วมแสดงฝีมือผ่านการทำหนังสือเล่มหรือการประกวดงานเขียน
เพราะงานเขียนในยุคสมัยนี้ แม้จะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ก็ยังเลือกที่จะทำหนังสือแนวที่สามารถขายได้เป็นหลักเท่านั้น พื้นที่ของหนังสือแนวอื่น ๆ กลับยิ่งลดน้อยลงจาก Shelf ทุกวัน อีกทั้งยังเน้นทำหนังสือแปลจากต่างประเทศมากกว่าเปิดโอกาสให้กับคนไทยด้วยกันเอง
หากรัฐเลือกที่จะให้วงการหนังสือหายไปจริง ๆ ก็จะมีแต่ประชาชนด้อยคุณภาพลงเรื่อย ๆ เป็นภาพอันน่าหดหู่สำหรับอนาคตภายภาคหน้าของประเทศที่ประชาชนเลือกหยิบใช้เทคโนโลยีแทนการอ่านหนังสือจริง ๆ
---
ที่มา
Urban Creature: 10 ห้องสมุดทั่วกรุงเทพที่น่าไปอ่านหนังสือช่วงวันหยุด
มิติหุ้น: BEM เตรียมนับถอยหลังสู่การปรับโฉมใหม่ของ Metro Mall ที่ MRT คลองเตย
---
About the author: ฬ. Jula