เดินเยอะ แต่ทำไมไม่ผอมสักที
ว่ากันว่า ยิ่งขยับร่างกายเยอะเท่าไหร่จะยิ่งช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ปอดและหัวใจได้ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะ 'การเดิน' ไม่ว่าจะเดินเยอะ เดินน้อย เดินเร็ว เดินช้า รวมถึงการวิ่งด้วยก็ตาม มันจะช่วยสร้างความแข็งแรงส่วนต่าง ๆ เช่น ข้อต่อกระดูก กล้ามเนื้อยืดหด ให้สามารถประสานกันได้ดี ลดอาการปวดเมื่อย ทำให้ร่างกายสามารถชินกับการขยับร่างกายเยอะ ๆ แบบนี้ได้ ยามที่ต้องออกแรงก็จะไม่เหนื่อยหอบมากเพราะหัวใจและปอดได้ชินกับอัตราการเผาผลาญในระดับที่สูงขึ้นไปแล้ว
ประโยชน์ของการขยับร่างกายเยอะ ๆ อย่างการเดิน จะเห็นตัวอย่างได้ชัดจากประเทศญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่มักเดินเท้ามากกว่าการนั่งรถ ทำให้คนญี่ปุ่นแทบไม่มีคนน้ำหนักเกิน หรือถึงมี ก็อาจจะเป็นส่วนน้อย เพราะชีวิตประจำวันของชาวเกาะมักใช้เวลาเดินเท้ามากกว่าการโดยสารรถประจำทาง (เฉพาะสถานที่ใกล้ ๆ)
กลับกัน แม้เราจะรู้ ๆ กันอยู่ว่าการเดินจะช่วยสร้างความแข็งแรงและเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความอ้วนได้ดี ทว่าคนไทยก็ยังใช้เวลาไปกับการเดินเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าคนไทยขี้เกียจหรือไม่พยายามหาโอกาสที่จะควบคุมน้ำหนักส่วนเกินของตัวเอง แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ
ประการแรก 'อาหาร' สิ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกายก็คืออาหาร และเป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือไม่หากบริโภคมากไปหรือน้อยไป อีกทั้งความรู้ด้านโภชนาการเกี่ยวกับอาหารยังเข้าใจได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก ความเข้าใจเกี่ยวกับสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายต้องการก็ยังมีปัจจัยด้านอายุ เพศ วิถีชีวิตมาเกี่ยวข้องด้วยอีก จึงยากที่จะควบคุมน้ำหนักได้โดยง่าย และการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพในภายภาคหน้า อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความเกี่ยวกับโปรตีน (ที่มา: โปรตีนไม่เพียงพอ สารอาหารสำคัญที่หลายคนมองข้าม) ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญแต่คนเราลืมที่จะทานให้ครบตามที่ร่างกายต้องการ
ประการที่สอง 'สภาพแวดล้อม' หากเปรียบเทียบระหว่างญี่ปุ่นกับไทย แน่นอนว่าสภาพอากาศของญี่ปุ่นน่าเดินกินลมชมวิวมากกว่าเป็นไหน ๆ ประกอบกับทางเท้าของญี่ปุ่นมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทัศนียภาพบ้านเมืองก็งดงาม มีสวนสาธารณะและขนส่งเข้าถึงได้ จึงไม่แปลกที่คนญี่ปุ่นชอบที่จะเดินมากกว่า ต่างจากไทยที่แค่ก้าวขาออกไปนอกบ้านก็แทบจะร้อนไม่ต่างจากก้าวขาลงนรกขุมสุดท้าย อีกทั้งราคาขนส่งสาธารณะก็เข้าถึงยาก จำเป็นต้องมีวินมอเตอร์ไซค์และรถตู้เพิ่มเพื่อโดยสารคน ทางเท้าไม่เป็นระเบียบหรือสะอาดได้เท่าญี่ปุ่น มันจึงยากที่จะสามารถชื่นชอบการเดินในสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจแบบนี้
ประการสุดท้าย 'ความเครียด' ด้วยบริบทสังคมที่มีความตึงเครียด ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น หรือรายได้ที่ลดลง ก็ยิ่งทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน Cortisol มากขึ้น บางรายต้องกินอาหารเพื่อลดความเครียดนั้น หรือบางรายร่างกายก็สะสมไขมันเพิ่มขึ้น
สุดท้ายก็ส่งผลที่น้ำหนักเกินเกณฑ์และสุขภาพย่ำแย่ แม้บางคนจะเดินมากขึ้นแล้ว แต่ด้วยปัจจัยสองประการที่กล่าวไปก่อนหน้ามันส่งผลอยู่ดี มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่า "ทำไมเดินเยอะ แต่น้ำหนักไม่เคยลด" นั่นเอง
---
About the author: ฬ. Jula