สมศ. ยกเครื่องผู้ประเมินภายนอก อัพเดททักษะรอบด้าน
สมศ. ยกเครื่องผู้ประเมินภายนอก อัพเดททักษะรอบด้าน ย้ำการประเมินต้องสะท้อนความจริง ยกระดับคุณภาพการศึกษาเชิงรูปธรรม
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เตรียมความพร้อมผู้ประเมินภายนอกก่อนลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษากลางปีนี้พร้อมพัฒนาหลักสูตรเพื่ออบรมเพิ่มศักยภาพผู้ประเมินอย่างรอบด้านทั้งการทดสอบสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) หลักสูตรการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกด้วยการเรียนรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e Learning) จากนั้นพิจารณาร่วมกับคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติงานผู้ประเมินภายนอก (QC 100) เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อทดสอบสมรรถนะผู้ประเมินภายนอกโดย สมศ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกเพราะผู้ประเมินภายนอกเป็นเสมือนตัวแทนของ สมศ. ในการประเมินคุณภาพภายนอกและให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาเพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินโดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อที่จะสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับสถานศึกษาและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สมศ. กล่าวว่า สมศ. มีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ก่อนที่จะเริ่มการประเมินคุณภาพภายนอก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยการส่งเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกให้แก่สถานศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินและการจัดอบรมเพื่อพัฒนาเพิ่มความรู้สร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประเมินภายนอกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประเมินภายนอก ของ สมศ.ทุกคนต้องผ่านการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกและต้องผ่านการทดสอบครบถ้วนทุกหัวข้อตามที่กำหนดเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิ์ลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษาโดยผู้ประเมินภายนอกต้องเข้ารับการอบรมเรียงลำดับตามนี้
1) การทดสอบสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ผู้ประเมินภายนอกจะต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองและทดสอบการใช้เทคโนโลยีจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยผู้ประเมินภายนอกของ สมศ.หลังจากได้เข้ารับการอบรมจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องเข้ารับการทดสอบสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่งเป็นการจัดสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
2) ภายหลังจากผู้ประเมินภายนอกผ่านการสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะเป็นขั้นตอนการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกด้วยการเรียนรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e Learning) ประกอบด้วยหลักสูตร 1.กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอก 2.กระบวนการ ขั้นตอนและเครื่องมือการประกันคุณภาพภายนอก 3.การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ AQA และ 4.การใช้ Mobile Application ONESQA V เพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก
3) จากนั้น สมศ.จะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้ประเมินภายนอกเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยพิจารณาจากคะแนนการทดสอบสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) การอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกด้วยการเรียนรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e Learning) ที่ผ่านตามเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนดและคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติงานผู้ประเมินภายนอก (QC 100) มาพิจารณาตามลำดับคะแนนจากมากไปน้อย เพื่อประกาศรายชื่อผู้ประเมินภายนอกเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ประเมินภายนอกการปฏิบัติการเพื่อทดสอบสมรรถนะผู้ประเมินภายนอกซึ่งในการอบรมฯประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติการใน
3 ขั้นตอนหลักของการประเมินคุณภาพภายนอก ได้แก่
1) การจัดทำและตรวจอ่านรายงาน การวิเคราะห์ SAR และบริบทสถานศึกษา ฃ
2) การจัดทำและตรวจอ่านรายงานการสังเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจเยี่ยม
3) การจัดทำและตรวจอ่านรายงาน รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกโดยจะมีการทดสอบประมวลความรู้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ภายหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วย
สมศ. มุ่งหวังให้การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาไปในทางที่ดีขึ้น โดย สมศ.ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกเพราะผู้ประเมินภายนอกเป็นเสมือนตัวแทนของ สมศ.ที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกและให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษา สมศ.จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาให้ผู้ประเมินภายนอกเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อที่จะสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ตรงกับบริบทของสถานศึกษาและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย