แชร์

'Zero waste' การลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือกลายเป็นศูนย์รับขยะทั่วโลก?

อัพเดทล่าสุด: 3 พ.ย. 2024
218 ผู้เข้าชม

ในอดีต ขยะทุกชิ้นที่โยนทิ้งลงถังล้วนมีมูลค่ามากมายมหาศาล ถึงขนาดที่เปรียบเปรยว่าขยะคือทองคำหนึ่งก้อน แต่ทุกวันนี้ขยะเหล่านั้นแทบจะกลายเป็นสินค้าไร้ค่า เหล่าผู้ประกอบการ คนขับซาเล้ง ไปจนถึงชนชั้นรากหญ้าที่มีอาชีพเก็บขยะขายต่างต้องเพิ่มชั่วโมงในการทำงานเพื่อคัดแยกขยะนำส่งขายกับโรงงานรับซื้อเจ้าใหญ่ต่อไป เนื่องด้วยจำนวนราคาบาทต่อกิโลกรัมของขยะแต่ละประเภทมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ พวกเขาจึงต้องหาขยะให้ได้จำนวนเยอะ ๆ แม้นำไปแลกเป็นเงินแล้วราคายังไม่พอเลี้ยงปากท้องก็ตาม

.

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตกลงทำการค้าเสรีกับประเทศจีน ซึ่งเป็นสัญญาการค้าที่สามารถซื้อขายขยะได้โดยไม่ต้องผ่านกำแพงภาษี เมื่อราคาขยะนำเข้านั้นถูกกว่า จากเดิมที่โรงงานรายใหญ่จะรับซื้อขยะจากรายย่อยภายในประเทศ กลายเป็นว่าเลือกที่จะนำเข้าขยะแทน อีกทั้งปริมาณนำเข้าขยะนั้นมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2562 จึงส่งผลให้ราคาขยะภายในประเทศต่ำลงไปโดยปริยาย

.
เพราะปัญหานี้ จึงส่งผลต่อรายได้ของประชาชนในประเทศไทย เหล่าผู้ประกอบการร้านขยะที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในจำนวนเท่าเดิม แต่รายได้เริ่มลดลงนั้นต่างออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขโดยการยื่นหนังสือส่งกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ประกอบการร้านรับซื้อชยะรีไซเคิล จ.พิษณุโลกกล่าวว่า "เราเอาของต่างชาติ นอกราชอาณาจักรมาเป็นวัตถุดิบ แต่วัตถุดิบในราชอาณาจักรกลับทิ้ง ผมมองแล้วมันไม่เป็นธรรม"

.
ถึงอย่างนั้นปัญหานี้กลับไม่สามารแก้ไขได้ แม้จะมีการเจรจาเพิ่มเติมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เหล่าผู้ประกอบการและคนขับซาเล้ง) ถึงสามครั้งแล้ว ผลสรุปเพียงแค่ว่าจะขึ้นเพดานราคารับซื้อมากกว่าราคาเดิม 50 สตางค์เท่านั้นซึ่งมันไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอยู่ดี

.
เมื่อเทียบกับเป้าหมาย Zero Waste ที่ต้องการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์ อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 'บ่อขยะ' ของโลกเสียมากกว่า ทั้งขยะนำเข้าและขยะที่ทิ้งกันภายในประเทศ เพียงกรุงเทพมหานครเมืองเดียวเท่านั้นก็สร้างจำนวนขยะที่มากถึง 10,000 ตันต่อวันแล้วด้วยซ้ำ

.
แนวคิดที่ภาครัฐต้องการให้เป็นกลับไม่สามารถใช้ได้ในความเป็นจริง ไทยเราไม่มีกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเป็นต้องแยกขยะ มีเพียงการ รณรงค์ และ ปลูกฝังจิตสำนึก ให้ตระหนักรู้เท่านั้น ต่างจากประเทศอื่นที่มีมาตรการชัดเจนเรื่องการทำความสะอาด คัดแยกขยะเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ นอกจากราคานำเข้าถูกเพราะไม่มีกำแพงภาษีแล้ว ก็หลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการนำมาทำความสะอาดเพื่อจะนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้นต่อไป จึงทำให้โรงงานรายใหญ่ในไทยเลือกที่จะนำเข้ามากกว่าการรับซื้อจากผู้ประกอบการร้านขยะภายในประเทศ

.
สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาทับซ้อน ที่ส่งผลต่อรายย่อยและคนชนชั้นรากหญ้าไม่สามารถเลี้ยงปากท้องตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

.

ที่มา

บทความสารคดี ThaiPBS เปิดปม : ไทยถังขยะโลก

บทความ LittleBigGreen รู้จัก Zero Waste แนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์

บทความ PETROMAT ทางออกขยะกรุงเทพฯ กับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

บทความ ประชาชาติธุรกิจ ประวัติศาสตร์-พัฒนาการการ์ตูนไทย จากยุคนิทานชาดกจนถึงยุคออนไลน์

-----

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy