"แพทย์นิติเวช" ผู้เล่าเรื่องและสืบค้น ความจริงจากศพ
การต้องอยู่กับ ศพ ทุกวันจนกลายเป็นรูทีนนั้นคือสิ่งที่ แพทย์นิติเวช ทำ แต่ใช่ว่าทุกศพที่ตายลงนั้นจะต้องผ่านการชันสูตรจากนิติเวช เมื่อมีศพที่ตายแบบผิดธรรมชาติ โดยไม่สามารถชี้ชัดได้ทันทีว่าตายจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำให้ตาย, ตายด้วยอุบัติเหตุ หรือถูกสัตว์ทำให้ตาย มันจึงกลายเป็นหน้าที่ของแพทย์นิติเวชที่เป็นผู้พิสูจน์ความจริงนั้น
.
หากมองจากคนที่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ หรือดูจากซีรีส์และภาพยนตร์มาก็คงมองว่ามันน่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นแพทย์นิติเวช แทบไม่ได้ต่างจากแพทย์ทั่วไปที่ทำงานกับผู้ป่วยเลย เพียงแต่ผู้ป่วยที่เราต้องทำงานด้วยไม่สามารถฟื้นขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อีกแล้วเท่านั้น แพทย์นิติเวชจึงเปรียบเสมือนผู้แทนของผู้เสียชีวิตที่จะบอกเล่าพฤติการณ์การตายเอง
ในประเทศไทย อาชีพ แพทย์นิติเวช สำคัญและมีความต้องการจำนวนมากอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับมือกับทุกสภาพศพได้ เรียกได้ว่า นอกจากจะต้องมีความรู้เพียบพร้อม ใจรักในความท้าทายกับเรื่องที่ไม่ทราบสาเหตุจนต้องสืบเสาะหาก็เป็นสิ่งสำคัญ
.
ลักษณะการทำงานของอาชีพนี้ไม่ใช่การทำงานเพียงคนเดียว นอกจากจะอยู่ในห้องผ่าแล้ว การลงพื้นที่เพื่อตรวจดูสภาพศพก่อนนำไปผ่าก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง เมื่อได้รับแจ้งเหตุการณ์พบผู้ตายขึ้น แพทย์นิติเวชจึงต้องลงพื้นที่เพื่อดูสถานที่โดยรอบ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ตายเพื่อนำไปประกอบการเขียนรายงานในการชันสูตร
.
ขึ้นชื่อว่า แพทย์นิติเวช คนที่จะสามารถเป็นได้ต้องเรียนแพทย์ให้จบ 6 ปีก่อน หากมีการใช้ทุนก็บวกระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี จากนั้นค่อยเรียนต่อเฉพาะทางอีก 3 ปี ดังนั้นในระยะเวลาโดยรวมของการเรียนเพื่อทำอาชีพที่ท้าทายนี้รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 9 ปีเลยทีเดียว โดยมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานิติเวชมีเพียง 6 สถาบันเท่านั้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์, ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชานิติเวชศาสตร์, ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาพยาธิวิทยา สาขาวิชานิติเวชศาสตร์, ม.เชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์, สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และม.ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์
.
เพราะคนตายพูดไม่ได้ เบื้องหลังความตายยิ่งไม่มีใครรู้ แพทย์นิติเวช จึงเป็นตัวแทนในการเสาะหาหลักฐานและเป็นผู้พิสูจน์ความจริงนั้นเอง หากใครที่สนใจอาชีพนี้ ขอเพียงใจรัก ไม่กลัวศพ ไม่กลัวเลือด คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงจากหลักฐานที่มีก็สามารถเป็น แพทย์นิติเวช ได้ และที่สำคัญคือ อาชีพนี้ค่าตอบแทนค่อนข้างดี (มาก) ด้วยนะ
.
ที่มา
อังคารคลุมโปง Close Up EP.31 | คนใกล้ผีคนที่ 31 : นิติเวช อ.พญ.หทัยชนก (หมอหมิว)
JOBS CHIANGRAI.COM แพทย์นิติเวช อาชีพที่ช่วยไขคดีความ
Dek-D พาไปรู้จัก! แพทย์นิติเวช หรือ หมอชันสูตรศพ
Thai PBS ฮาโลวีนทั้งชีวิต หมอนิติเวช อาชีพพูดแทนคนตาย
-----
About the author: ฬ. Jula