อาชีพนักเขียน เป็นแบบไหนกันนะ
อยากเป็นนักเขียนเริ่มต้นยังไงดี? จะมีคณะไหนบ้างไหมนะที่เปิดให้เรียนโดยเฉพาะ? สามารถทำอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักได้รึเปล่า แล้วคำว่าเป็นนักเขียน ไส้แห้ง นั่นคือความจริงไหม
บทความนี้จะรวบรวมมาตอบให้ทุกข้อสงสัยเท่าที่จะสามารถตอบได้เลย
อยากเป็นนักเขียนเริ่มต้นยังไงดี
คำถามนี้ค่อนข้างจะมีคำตอบที่หลากหลายนะ เพราะนักเขียนรุ่นพี่เขาแนะนำเอาไว้หลายแนวทาง แต่ในมุมมองเราคือ ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียน ก็สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยค่ะ
ในยุคที่เทคโนโลยีมีหลากหลายให้เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ไอแพด แท็ปเล็ต หรือแม้แต่กระดาษกับดินสอ สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถดึงเอาสิ่งที่คิดอยู่ในหัวออกมาได้ การจดบันทึกเรื่องราวก็ถือว่าเป็นงานเขียนแขนงหนึ่งแล้วนะ เพียงแต่จะเป็นรูปแบบไหนขอเอ่ยถึงในหัวข้อเรื่องประเภทของงานเขียนแล้วกัน
อันที่จริงคำถามข้อแรกนี้ ส่วนใหญ่รุ่นพี่นักเขียนเขามักจะให้คำแนะนำเชิงนี้หมด หากอยากเริ่มก็เริ่มได้เลยไม่ต้องรีรออะไร งานเขียนไม่ต่างจากงานศิลปะหรอก ถ้ามีแรงบันดาลใจที่จะทำมันเมื่อไหร่ ก็รีบลงมือซะก่อนที่ไฟแพชชั่นจะมอดดับ
เอาเป็นว่าจุดเริ่มต้นนี้ ขอแค่มีแพชชั่นและกล้าที่จะลงมือทำเท่านั้น แล้วขั้นตอนอื่น ๆ ก็จะตามมาเองค่ะ
จะมีคณะไหนบ้างที่เปิดสอน
พอจะคุ้น ๆ กันอยู่บ้างแล้วแหละว่างานเขียนคืองานที่ทำเกี่ยวกับตัวหนังสือ การใช้ข้อความและภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ฉะนั้นคณะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและเรียนพวกตัวหนังสือเป็นหลัก มีดังนี้ คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วารสารศาสตร์ โบราณคดี นิเทศศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่คณะที่เอ่ยถึงแค่นี้นะ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเขียนได้ จะอยู่คณะไหน ทำอาชีพอะไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถประยุกต์งานเขียนควบคู่ไปกับความรู้พื้นฐานของตนให้ออกมาเป็นรูปแบบไหนได้เท่านั้นเอง แต่ที่เอ่ยถึงคณะเหล่านี้เป็นอันดับแรกเพราะมีการเรียนการสอนสำหรับการ เล่าเรื่อง อยู่ นี่แหละที่เป็นเหตุผลของประโยคที่ว่า ใคร ๆ ก็สามารถเขียนได้ แต่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่เขียนเป็น
งานเขียนไม่ใช่แค่การใช้ภาษาสื่อสาร หรือนำตัวอักษรมาเรียงกันเป็นรูปประโยคเท่านั้น แต่มันคือศาสตร์ที่รวบรวมเอาความรู้ทั้งหมดที่มี ประสบการณ์ทั้งชีวิต หรือสิ่งที่สนใจของผู้เขียนมาสรุปย่อรวมกันไว้และนำมันมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ เพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงแก่นที่ต้องการสื่อสารออกไปนั่นเอง กว่าจะเขียนได้ออกมาหัวข้อหนึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ และการเรียบเรียงการสื่อสารออกมาให้เป็น มันถึงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเลยในการทำหนึ่งชิ้นงานยังไงล่ะ
เพราะฉะนั้น งานเขียนที่คิดว่า ใคร ๆ ก็เขียนได้เนี่ย มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ
สามารถทำอาชีพนี้เป็นหลักได้เลยรึเปล่า
สำหรับคำตอบของคำถามนี้...ขนาดนักเขียนรุ่นพี่ที่เขามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีแฟนคลับคอยสนับสนุน ยังบอกว่างานเขียนต้องเป็นอาชีพเสริมเลย ฉะนั้นก็ควรต้องเชื่อเขาแล้วล่ะค่ะ ในยุคสมัยที่คนอ่านหนังสือน้อยลง สื่อประเภทวิดีโอแนวตั้งอย่าง TikTok ได้รับความนิยมมากแทบจะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มันก็ส่งผลให้ผลงานของนักเขียนยากที่จะแมสขึ้นมา หากไม่ใช่เพราะจังหวะเวลาและโอกาสที่เข้ามาหานักเขียนหรือตัวนักเขียนวิ่งหาโอกาสเอง การจะทำให้อาชีพนี้สามารถเป็นอาชีพหลักและเลี้ยงตัวเองได้ตลอดชีวิตอาจจะยากนิดนึง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลยนะคะไม่ว่าอะไรก็ตาม เรามองว่าขอแค่ไม่ละทิ้งความพยายามเท่านั้นแหละค่ะ เชื่ออย่างนี้ไว้ก่อนจะดีที่สุด
คำว่า นักเขียนไส้แห้ง เป็นความจริงไหม
รุ่นพี่นักเขียนหลายคนเขาก็เตือนกันเรื่องนี้น่ะนะ แล้วประโยคนี้ก็กลายเป็นภาพจำไปแล้วจริง ๆ ว่าหากจะประกอบอาชีพเป็นนักเขียนต้องไส้แห้งแน่นอน ขายงานเขียนจะไปมีเงินเยอะได้ยังไง แต่เรามองว่าจริงบางส่วนนะ อย่างที่เอ่ยถึงเรื่องประเภทงานเขียนไปในคำถามข้อแรก เพราะว่างานเขียนมีหลายประเภทนี่แหละ ทั้งเรื่องสั้น บทความ สารคดี นิยาย วิทยานิพนธ์ หรือแม้แต่บันทึกไดอารี่ก็ตาม ประเภทเหล่านี้มันมีมากมายให้เลือกสร้างสรรค์ นักอ่านมีเป็นล้าน ๆ คนที่สามารถหลุดเข้ามาในโลกงานเขียนของคุณตอนไหนก็ได้ โอกาสพวกนี้แหละที่จะทำให้นักเขียนไม่จำเป็นต้องไส้แห้งเสมอไปค่ะ อีกอย่างคือระดับความรู้และประสบการณ์ที่ใส่ลงไปในงานเขียนนั่นแหละ จะเป็นตัวช่วยเพิ่มมูลค่าให้เอง
เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งละทิ้งโอกาสนะ ถ้าอยากเขียนก็เริ่มเขียนได้เลย บางทีอาจเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการได้เผยแพร่งานของตัวเองให้โลกได้เห็นก็ได้
อย่างสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ งานเขียนไม่ต่างจากการฝึกซ้อมออกกำลังกายหรือฝึกทำโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ มันคืองานที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทักษะการสื่อสาร การเล่าเรื่อง การใช้ภาษา รวมถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามา ความชำนาญในการเขียนไม่ใช่สิ่งที่ได้มาในระยะเวลาอันสั้น แต่มันต้องใช้ความพยายามไม่ต่างจากการฝึกฝนทักษะด้านอื่น ๆ เทียบเท่ากับวิชาชีพเลย เพราะฉะนั้น หากอยากจะเป็นนักเขียนนอกจากเริ่มเขียนแล้ว ก็ต้องหมั่นฝึกฝน หาความรู้เพิ่มเติมสม่ำเสมอ สิ่งที่รุ่นพี่นักเขียนแนะนำเอาไว้คือ หากจะเขียน ให้อ่าน...อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวเรื่องที่ชื่นชอบหรือไม่ก็ตาม ทุกเรื่องที่คุณอ่านมันจะเกิดการเรียนรู้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน สิ่งนี้แหละคือเคล็ดลับที่ไม่ลับสำหรับการเป็นนักเขียนของจริง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำจากเราและรุ่นพี่นักเขียนที่มากประสบการณ์อีกหลายท่าน ยังไงทุกคนล้วนมีเส้นทางเดินเป็นของตัวเองอยู่แล้วนั่นแหละ ขอแค่ยังมีแพชชั่น ไม่ละทิ้งความพยายามที่จะเดินตามความฝันในการเป็นนักเขียนของตัวเอง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปก้าวเล็ก ๆ แล้วนะ
---
About the author: ฬ. Jula