แชร์

อาชีพ 'พยาบาล' แต่ละมื้อแต่ละวันที่วิชาชีพนี้ต้องเจอ

อัพเดทล่าสุด: 7 ก.ย. 2024
211 ผู้เข้าชม

จากในครรภ์จนถึงเชิงตะกอนสุดท้าย เบื้องหลังของทุกชีวิตคือหน้าที่ของ พยาบาล วิชาชีพนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรักษา ไม่ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยสาหัสมามากแค่ไหน ด่านแรกจนด่านสุดท้ายที่ต้องเผชิญกับคนไข้คือพยาบาลนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ The Study ได้มีบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับอาชีพพยาบาลว่าเรียนอะไร เรียนยังไง ต้องเจอกับอะไรบ้างในช่วงระยะเวลาทั้งหมด 4 ปีการศึกษาไปแล้ว โดยสามารถรับชมได้ที่ ล้วงลึก พี่ #พยาบาล ธรรมศาสตร์ | พี่แนะน้อง EP2 ส่วนบทความนี้จะเล่าถึงมุมมองที่พยาบาลต้องเผชิญมาตลอด เดิมทีการเจอคนไข้ร้อยพ่อพันแม่นั้นนับว่าพาให้ใจเหนื่อยล้ามากแล้ว แต่ยังไม่รวมถึงการทำงานในแต่ละวันตามช่วงเวรที่รับผิดชอบ บางวันผ่านไปได้ดีก็ดีไป หากบางวันเกิดเวรยับขึ้นมา จากเดิมที่ต้องเลิกงานตามเวลาอาจล่วงเลยไปถึงช่วงเวลาของเวรถัดไป หนำซ้ำยังได้ OT เพิ่มแค่ไม่กี่บาท เรียกได้ว่า อาชีพพยาบาลเป็นงานหนักและเงินน้อยจริง ๆ (เว้นแต่จะทำด้วยใจรักและไม่เดือดร้อนเรื่องเงินเท่านั้นถึงจะยังสามารถทำมันต่อไปได้)

สิ่งที่เราอยากจะเล่าถึงคือ การบันทึกการพยาบาล (Nurse Note) ตามความหมายและบทบาทของมันมีไว้เพื่อการรักษาผู้ป่วยในอนาคต อาจมีข้อมูลได้หลายประการ ดังนี้ อาการที่ผู้ป่วยรายงาน การตรวจสุขภาพประจำวัน การดูแลและการรักษาที่ให้กับผู้ป่วย การจัดยาและการดูแลเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ข้อแนะนำในการดูแลต่อไป สุดท้ายคือข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของสถานะผู้ป่วย ซึ่งการลงรายละเอียดสำหรับ Nurse Note มีความสำคัญมากเนื่องจากข้อมูลที่บิดพลิ้วไปเพียงนิด อาจส่งผลต่อการรักษาต่อของผู้ป่วยในอนาคตได้

แม้ไม่ได้ทำอาชีพนี้แต่เรารู้สึกนับถือในความอุตสาหะของพี่ ๆ พยาบาลทุกคน จากข่าวเหตุการณ์พายุฤดูร้อนถล่มอุตรดิตถ์และพื้นที่นั้นรวมถึงโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ทำให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างพยาบาลและเจ้าหน้าที่ช่วยกันปกป้องคนไข้จากหน้าต่างที่กำลังถูกลมพายุซัดจนหลุดเข้ามาด้านในตึก ด้วยเรื่องราวนี้เองจึงทำให้รู้ว่า หลังจากรับมือเสร็จสิ้นและทุกคนปลอดภัยดีแล้ว พยาบาลยังมีอีกหน้าที่สำคัญคือต้องจดบันทึก สิ่งนั้นเรียกว่า Nurse Note อย่างที่กล่าวไปนั่นเอง และการจดบันทึกนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนทั่วไปเท่านั้น แต่ทุกข้อมูลที่เขียนต้องมีดีเทล ต้องละเอียดยิบย่อย อย่างการเกิดเหตุการณ์พายุถล่ม ดีเทลที่เขียนลงไปอาจต้องใส่ถึงขั้นที่ว่าลมพัดนาทีไหนหรือเหล็กดัดหล่นนาทีเท่าไหร่เลยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ การเป็นพยาบาลไม่เพียงจดบันทึกรายงานทุกย่างก้าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวรที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังต้องนำบันทึกนั้นไปเสนอแนวทางแก้ไข วิธีป้องกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีกจะได้มีแนวทางรับมือและสามารถลดความเสียหายได้ สิ่งนี้เรียกว่า RCA (Root Cause Analysis)

โดยการจดบันทึกเหล่านี้ แม้จะมีประโยชน์สำหรับการรักษาของผู้ป่วยในอนาคต แต่บางเหตุการณ์ที่พี่พยาบาลต้องเผชิญหรือบางวันเป็นเคส Active การรับมือกับเหตุการณ์ตอนนั้นนับว่าเหนื่อยมากแล้วแต่ยังต้องมานั่งเทียนเล่าเรื่องซ้ำ และหากไม่ได้เขียน ผู้เป็นหัวหน้าพยาบาลอาจประเมินว่าไม่ได้ทำงาน หน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไปโดยปริยาย รวมถึงยังมีผลต่อการส่งต่อให้เวรถัดไปรับผิดชอบด้วย หากผู้รับช่วงต่อไม่รู้เรื่องราวหรือเหตุการณ์ก่อนหน้า อาจทำให้การพยาบาลผู้ป่วยไม่ต่อเนื่องได้

เมื่อรู้ว่าพยาบาลต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวันแล้ว คงคิดว่าค่าแรงน่าเทียบเท่ากับแพทย์แน่เลย หากคิดแบบนั้นคงโลกสวยเกินไปหน่อย เพราะความเป็นจริงคือเงินไม่ได้เยอะอย่างที่คิด ประมาณ 13,000 ถึง 15,000 บาทไม่รวม OT ยิ่งทำงานกับโรงพยาบาลรัฐที่บุคลากรทางการแพทย์น้อยนิดจนแทบไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยด้วยแล้ว การคิดถึงกองเงินจำนวนเยอะ ๆ นั้นแทบจะเป็นความฝันเลยด้วยซ้ำ เพราะงานพยาบาลคืองานหนัก ต้องเก็บอารมณ์เก่ง ต้องคอยดูแลผู้ป่วยทั้งเช็ดอุจจาระ ปัสสาวะ ทำแผล เจาะเลือด ฯลฯ หนำซ้ำยังอาจโดนดูถูกจากญาติหรือคนไข้ที่มองว่าพยาบาลไม่มีความสำคัญเทียบเท่าแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค

ต้องยอมรับว่าวิชาชีพนี้ นอกจากใจรักแล้วคงไม่มีอะไรน่าดึงดูดให้ทำเหมือนอาชีพอื่น ๆ เลย แต่การได้เห็นพยาบาลที่ตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็งแล้วเราก็อยากให้รัฐให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์นี้เหมือนกันนะ

เพราะผู้ที่อยู่กับคนไข้ตลอดเวลาไม่ใช่แพทย์ และผู้ที่ดูแลตั้งแต่ในครรภ์จนเชิงตะกอนสุดท้ายก็คือพยาบาลนั่นแหละ

---

ที่มา

MGR Online: ชม จนท. รพ. อุตรดิตถ์ ช่วยอพยพผู้ป่วย หลังพายุฤดูร้อนถล่ม

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy