ดูดน้ำ ดูควาย ปล่อยใจสบาย ๆ ที่บ้านอนุรักษ์ควาย จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เราได้เห็นคนรีวิว สถานที่ท่องเที่ยวที่ใหม่ ใกล้กรุงเทพฯ อันที่จริง ไม่เชิงว่า ใหม่ เสียทีเดียว เพราะเจ้าของรีวิวนั้นบอกว่าสถานที่เริ่มทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ที่นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่นั้นหมายถึงที่แห่งนี้เราไม่เคยรู้จักและไม่เคยได้มาสัมผัสบรรยากาศที่นี่มาก่อน ซึ่งพอเราได้เดินทางไปถึงนั้นก็พบว่า...เก่าอย่างที่เขาบอกเอาไว้จริง ๆ
การเดินทางในครั้งนี้ไม่ต่างจากออกไปเที่ยวในทุก ๆ วันหยุด เป็นวันที่เหล่าสมาชิกในครอบครัวมีเวลาว่างตรงกัน จากนั้นก็หาสถานที่สักหนึ่งแห่งเพื่อเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ และ บ้านอนุรักษ์ควายไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นหมุดหมายสำคัญของการออกเดินทาง
ยามรถแล่นไปตามถนน รอบข้างที่เป็นตึกสูง เดิมทีอาจมองเห็นเป็นปกติในเมืองกลับถูกแทนที่ไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งนิด ๆ เราและครอบครัวก็ถึงที่หมาย ความรู้สึกแรกที่ได้เห็นคือ ทำไมทางเข้ามันเงียบจัง กระทั่งแม่ยังพูดออกมาด้วยความรู้สึกแบบเดียวกัน แต่เราเป็นผู้ได้อ่านรีวิวมาก่อนหน้านี้แล้วจึงไม่ค่อยประหลาดใจนัก และความตั้งใจครั้งนี้คือการได้ไปนั่งดูควายเท่านั้นจริง ๆ จึงไม่ได้กังวลว่าสถานที่จะเก่าหรือทรุดโทรมเท่าที่คนรีวิวเขาบอกเอาไว้ขนาดไหน
เราก้าวลงจากรถด้วยสภาพจิตใจห่อเหี่ยว กระทั่งเห็นรูปปั้นควายที่ยืนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่ด้านหน้าเลยพอช่วยให้ยิ้มออกมาได้บ้าง บรรยากาศทางเข้าค่อนข้างเงียบ มีเพียงรถของนักท่องเที่ยวจอดเอาไว้ ส่วนพนักงานขายตั๋วก็นั่งอยู่หลังซุ้มเพียงคนเดียว แม่จ่ายเงินไปทั้งหมด 120 บาทจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 4 คน แล้วทั้งครอบครัวก็เดินผ่านประตูไม้ด้านหน้าไป
กิจกรรมขึ้นขี่หลังควาย
ขึ้นขี่หลังได้นะ ควายสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมเลยครับ เสียงพนักงานกล่าวบอกผ่านไมโครโฟน เป็นโชคดีของทั้งครอบครัวที่มาทันเวลาในรอบแสดงของเจ้าทุยแสนรู้ทั้งหลาย เชือกสีแดงร้อยผ่านรูจมูกถูกดึงไปมาตามความต้องการของคนบังคับ มีนักท่องเที่ยวมากมายยื่นหญ้าหลายกำใส่ปากพวกมันและเจ้าทุยนั้นก็อ้าปากกินไม่เลือกอย่างเอร็ดอร่อย
เจ้าต๋อง เป็นชื่อควายตัวหนึ่งที่เราขึ้นขี่หลัง ต๋องเป็นควายสีเผือกต่างจากสีนิลที่เคยเห็นทั่วไป ต๋องตัวไม่ใหญ่มากนักแต่ดูท่าจะชอบกินจนไม่ได้สนใจเราที่ถือวิสาสะขึ้นขี่หลังของมันเลย ถึงอย่างนั้นก็ทำให้ประสบการณ์การได้ขี่หลังควายครั้งแรกผ่านไปด้วยดี
กินแฟ ดูฟาย
หลังจากกิจกรรมขี่ควายผ่านไปแล้ว เราจึงเดินผ่านไปยังคาเฟ่ริมบ่อโคลนที่มีไว้สำหรับควายลงไปแช่ ด้วยความที่สถานที่นี้ค่อนข้างเปิดมานานตั้งแต่ปี 2545 แล้ว สะพานไม้จึงเริ่มพังบางส่วน กระนั้นยังพอสามารถเดินได้โดยไม่ตกลงบ่อโคลนพร้อมเล่นกับควายไปเสียก่อน แม่เราเดินนำหน้าไปจนได้กลิ่นที่ท่านคุ้นเคยเมื่อสมัยเด็ก ๆ กลิ่นขี้ควายและบ่อโคลน นั่นเอง การได้กลิ่นนี้มันก็พาลให้นึกถึงบ้านของคุณยายที่อยู่ต่างจังหวัด
ช่วงวัยกระเตาะกระแตะเรายังพอได้เห็นควายเดินตามถนนบ้าง แต่เมื่อโตขึ้น ควายกลับถูกเจ้าของขายทิ้งไปเสียหมด นั่นรวมถึงครอบครัวทางบ้านแม่ด้วย พอได้กลับมาเจอควายอีกครั้งมันทำให้อยากย้อนวันเวลาไปอยู่ในช่วงนั้นจริง ๆ
น้องควายที่นี่น่ารัก ขี้อ้อน กินเก่ง ให้หญ้าไปเท่าไหร่ก็กินหมดเท่านั้น เครื่องดื่มและของทานเล่นถูกใจในราคาไม่ถึง 100 บาทซึ่งหาได้ยากนักหากอาศัยอยู่ในกรุงเทพ กิมมิคในการเสิร์ฟยังคงความเป็นบ้านนาชนบท แม้จะสั่งด้วยเมนูฝรั่งอย่างเฟรนช์ฟรายและนักเก็ตแต่ถูกยกมาเสิร์ฟด้วยการวางบนขันโตกไม้สานขนาดเล็ก ชานไม้สำหรับนั่งยังมีเก้าอี้สานและตุ๊กตาไม้ม้าโยกวางเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวด้วย
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้มาพักผ่อนหย่อนใจกับควายอีกหลายสิบตัวแต่ก็ทำให้เรามีเสียงหัวเราะและได้รอยยิ้มกลับบ้าน
หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จังหวัดสุพรรณบุรี
นอกจากเป็นแหล่งดูควาย เล่นกับควาย และให้อาหารควายแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่เน้นการท่องเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ เพราะควายไทยอยู่คู่กับชาวนามาตั้งแต่ยุคสมัยดึกดำบรรพ์ เมล็ดข้าวที่งอกงามจนสามารถส่งออกได้ก่อนหน้านี้ก็มาจากควายผู้ทำหน้าที่ไถนาทั้งสิ้น กระทั่งเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ควายจึงได้วางมือจากการไถนาไป
การสร้าง หมู่บ้านควายไทย ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ให้ควายอยู่คู่กับชาวนา และเป็นประวัติศาสตร์ให้กับรุ่นหลานได้รับรู้ว่า ครั้งหนึ่งเจ้าสิ่งมีชีวิตแสนรู้นี้มีบุญคุณต่อชาวไทยมากขนาดไหน
และหากใครยังอยากเห็นวิถีชีวิตแบบชาวนาในชนบทสมัยก่อน รวมถึงมาเจอกับควายแสนรู้ทั้งหลาย หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เหมาะสมให้มาเยี่ยมชม
---
ที่มา
จังหวัดสุพรรณบุรี: หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย
MGR Online: เที่ยวสุพรรณฯ บรรยากาศท้องนา หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ดูควายยิ้ม ชิมกาแฟ
---
About the author: ฬ. Jula