แชร์

ประเทศที่หากินกับอัตลักษณ์ทางเพศเพราะรู้ว่ายังไงก็ 'ขายได้' แต่กลับสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนในคอมมูโดยไม่รู้ตัว

อัพเดทล่าสุด: 17 มิ.ย. 2024
266 ผู้เข้าชม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กระแสของซีรีส์วายเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่สามารถตีพิมพ์หรือเผยแพร่ได้อย่างเปิดเผย ตรงข้ามกับความเป็นจริงในยุคสมัยนี้ที่ถือว่าซีรีส์วายได้กลายเป็น Y-Economy (เศรษฐกิจฉบับวาย) ไปแล้ว เหล่านักลงทุนหน้าใหม่ล้วนให้ความสำคัญและอยากจะลงทุนมากขึ้น สะท้อนได้จากสถิติของ LINE TV ที่มีฐานคนดูซีรีส์วายเพิ่มขึ้นถึง 328% โดยในปี 2020 สัดส่วนคนดูซีรีส์วายบน LINE TV เพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดิมในปี 2018 สัดส่วนอยู่ที่ 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนดูคอนเทนต์ซีรีส์วายเป็นภาพเดียวกันกับพฤติกรรมผู้บริโภคในสายตาของแบรนด์ที่ต้องการทำ Y-Marketing เมื่อมีการ Tie-in สินค้าในฉากหรือตัวละครมีการใช้สินค้าจริง ผู้ชมในกลุ่มแฟนคลับเป็นกลุ่มสำคัญที่จะช่วยให้ยอดขายของแบรนด์พุ่งกระฉูด ความ Loyalty ต่อนักแสดงที่เป็นพรีเซนเตอร์จึงกลายเป็นฐานลูกค้าสำคัญที่แบรนด์ต้องการ

แม้ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้จะปิดตัวลงไปแล้ว กลับเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ให้กับนักลงทุนว่า ซีรีส์วายมันขายได้

ในฐานะที่เป็นโปรดิวเซอร์ ที่ถือว่าเป็นเบื้องหลังการผลิตซีรีส์วาย มองว่ามันฉาบฉวยไหม

"มันใช้คำว่ากอบโกยดีกว่าเนาะ พอกระแสมันมา คนก็อยากจะโกยในส่วนที่คิดว่าซีรีส์น่าจะขายได้ ยังไงก็มีคนดู มันคือการเก็บโอกาส ฉวยโอกาสประมาณนี้มากกว่า"

คิดว่าซีรีส์วายมีการพัฒนาจากช่วงแรก ๆ หรือเปล่า

"ในมุมมองของคนทำงานอะ มองว่ามันก็มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ทุกอย่างมันดูแปลกใหม่ ไม่จำเจ ให้มันดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แล้วแต่บทและผู้กำกับ ว่าอยากให้มันออกมาประมาณไหน อยากเล่าเรื่องให้คนดูรู้สึกกับมันยังไง"

นอกจาก LINE TV ที่เป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ซึ่งมีคอนเทนต์วายมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น VIU, WeTV, AIS Play หรือแม้แต่ทีวีดิจิทัลอย่าง ช่อง ONE, ThaiPBS, GMM25, 3HD ก็เริ่มมีซีรีส์วายเป็นหนึ่งในโปรแกรมออกอากาศแล้ว

จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมบันเทิงมีความเปิดกว้างในการผลิตคอนเทนต์วายออกสู่สังคมมากขึ้น มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเพื่อให้ซีรีส์ติดตลาดและสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศได้ ทำให้ทุกวันนี้ซีรีส์วายไม่ได้มีเพียงเนื้อเรื่องที่ชวนจิ้น เขินฟินจิกหมอนเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีความหลากหลายของ Genre ไม่ว่าจะเป็นสืบสวนสอบสวน ลี้ลับ ย้อนยุคและแฟนตาซี จากก่อนหน้านี้ที่ซีรีส์วายเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมใหม่ ๆ เมื่อนำคุณภาพมาเทียบกันนั้นแตกต่างกับปัจจุบันนี้มาก ทั้งบทและนักแสดง รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ของทีมผลิตก็เริ่มมี scale ใกล้เคียงกับภาพยนตร์ มีความใส่ใจเรื่องภาพ แสง สี เสียงและการแสดงของนักแสดง รวมถึงเคมีของตัวละครที่เล่นถึงและพาให้ผู้ชมสามารถอินไปกับบทบาทนั้น ๆ ได้ ยิ่งผู้ชมมีทางเลือกให้เสพสื่อที่หลากหลายมากเท่าใด เหล่าผู้ผลิตและนักลงทุนยิ่งต้องแสวงหาทางที่จะเข้าถึงผู้คนเหล่านั้นให้ได้มากเท่านั้น โดยการใส่ใจกับกระบวนการผลิตเพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพ ลงทุนกับการตลาดให้มีกระแสเพิ่มขึ้นจนสามารถต่อยอดอย่างอื่นได้ อาทิ การจัดแฟนมีตหรือคอนเสิร์ตของซีรีส์ การทำของสะสม การจัดอีเว้นท์ให้แฟนคลับสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเหล่านักแสดง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในทางธุรกิจและการตลาดของซีรีส์วายช่างเป็นภาพที่หอมหวานฟุ้งเฟ้อ แค่ดูตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเม็ดเงินเหล่านั้นแล้วยิ่งล่อตาล่อใจ ราวกับวางกองสมบัติไว้ตรงหน้า รอบกายมีแต่ผู้คนต้องการจะยื้อแย่งและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในผู้ที่ได้รับสมบัติเหล่านั้น

ในทางกลับกัน ภาพของผู้ที่ถูกหยิบยืมอัตลักษณ์ทางเพศนั้นกลับไม่ได้งดงามอย่างโลกทุนนิยม

นับตั้งแต่ที่ซีรีส์วายเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มให้ความสนใจกับการเรียกร้องของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายนเมื่อ 3 ปีก่อน วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ทางพรรคก้าวไกลได้ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่อสภา แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการริเริ่มร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตในรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วเรียบร้อย ทว่าในรายละเอียดของพ.ร.บ.คู่ชีวิต สิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีข้อจำกัด และไม่เท่าเทียมกับการจดทะเบียนสมรสของชาย-หญิง จึงเกิดการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องหลังจากพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งยาวนานกว่า 1,251 วัน ในที่สุด ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างกฎหมายการรับรองเพศสภาพของพรรคก้าวไกลก็ถูกบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เรียบร้อยแล้ว

น่าเสียดายที่ร่างนี้ถูกปัดตกไปอีกครั้ง แต่ด้วยความพยายามครั้งใหม่ จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม 2567 มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 สภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.สมสรเท่าเทียม โดยที่ประชุมสภา มีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

ในที่สุด กว่า 23 ปีที่ของการเดินทางสำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ใกล้จะเสร็จสิ้น

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้เร่งออกข้อกำหนดให้ชัดเจนสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ ด้วยสิทธิ์บัตรทองในราคา 30 บาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับทั้งสองกรณีล้วนเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมในฐานะบุคคลหนึ่ง ทว่าการเรียกร้องเหล่านี้กลับมีเส้นแบ่งแยกจากซีรีส์วายไปอย่างสิ้นเชิง จริงอยู่ที่ทางอุตสาหกรรมบันเทิงวายเริ่มพัฒนา นักแสดงมีความสามารถ บทมีคุณภาพน่าติดตาม แต่การเสนอภาพ ความรักชาย-ชาย จากการสำรวจของ THE MATTER ได้แสดงผลถึงการ stereotype ของความสัมพันธ์ มีการใช้กู-มึง และคำด่าเป็นสรรพนามการแสดงความรัก มีภาพของคำว่าร่างสูง-ร่างบาง และต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่แมนกว่าเพื่อสื่อให้เห็นชัดเจนว่าใครผัว ใครเมีย แม้ว่าจะมีประเด็นเรียกร้องสำหรับ LGBTQIA+ ปรากฏในเรื่องแต่กลับไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่นัก

สำหรับซีรีส์วายที่เคยทำ บทแบบไหนมักจะขายได้ดีกว่า

"คิดว่าแค่แตะ ๆ ความเป็นมิตรภาพ อาจจะมีจิ้นบ้างนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับมีเซ็กส์กัน และไม่ต้องสอดแทรกประเด็นน่าจะดูง่ายกว่า ถ้าเรียกร้อง ไม่ว่าจะประเด็นไหนก็จะดูเครียดมากกว่าจิ้นเฉย ๆ"

กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น?

"คิดว่าอย่างนั้นนะคะ ดูแล้วชิล ๆ ซึ่งมันไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่สาววาย แค่คนที่ต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีเพราะมีเรื่องเซ็กส์ หรือเรื่องอะไรที่ดูเข้าใจยาก สามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย เหมือนเพื่อดูชีวิตเค้า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนจุดจบมันเป็นยังไง มันคือการใช้ชีวิตร่วมกันไปโดยไม่ต้องมีอะไรที่มาคิดเยอะตาม"

และที่สำคัญคือ กลุ่มลูกค้าหลักของซีรีส์วายเป็นผู้หญิง ภาพของซีรีส์ที่ทำออกมาก็เพื่อสะท้อนให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจนแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันมีการ stereotype บางประการที่สร้างบาดแผลแก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย


เสียงจาก LGBTQIA+ กับความกับเจ็บปวดต่อการถูก stereotype ในซีรีส์


"เราโดนเหมารวมว่าเป็นคนตลก คนที่รับบทแบบ ตุ้ด เกย์ กะเทยออกสาว ต้องมีบุคลิกที่แบบดูตลก มีเอเนอจี้ตลอดเวลามากกว่าคนปกติทั่วไป เหมือนสื่อออกมาแบบนั้น ทำให้คนภายนอกมีภาพจำกับคนในคอมมูว่าเราต้องเป็นคนตลก" คิริน ผู้นิยามตนเองเป็น Gay

"บางคนมาบอกกับเราว่า ไม่เห็นตลกเหมือนในซีรีส์เลย คือแบบ กูไม่ได้อยู่ในซีรีส์ นี่ชีวิตจริงนะ หนังหรือซีรีส์บางเรื่องถ้าฉากตุ๊ดเกย์กะเทยเดินผ่านวินมอเตอร์ไซค์ มันมีทุกเรื่องเลยที่ต้องแซวอะ ซึ่งสิ่งนี้อยากใส่ออกมาให้มันตลกก็เข้าใจ แต่มันควรเหรอ ชีวิตจริงก็โดนหนักด้วย แต่สุดท้ายหนังก็อาจจะ inspire มาจากชีวิตจริง ซึ่งชีวิตจริงหนักกว่านี้อีก" โอเว่น ผู้นิยามตนเองเป็นกะเทย

"มีคนคุยเป็นผู้หญิง เรายอมรับว่าเป็นคนไม่มั่นใจในส่วนสูงของตัวเอง แต่อยากจะเป็นผัวและเราก็ชอบอยู่ในตำแหน่งนี้ เคยโดนแบบ ทำไมเตี้ยจัง ทำไมไม่สูงล่ะ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ได้แปลว่าสูงจะต้องเป็นผัว ตัวเล็กจะต้องเป็นเมียรึเปล่า"  นาน่า ผู้นิยามตนเองเป็น Pansexual

น่าเสียดายที่เสียงสะท้อนเหล่านี้แทบไปไม่ถึงอีกคอมมูหนึ่ง ซึ่งเรียกตนเองว่า สาววาย เลย การเรียกร้องหรือภาพจำต่าง ๆ ที่สังคมในปัจจุบันนี้พยายามตระหนักกันมากขึ้นกลับถูกเมินเฉยเพียงเพราะมองว่าการเสพสื่อคือเรื่องบันเทิงเท่านั้น

หนึ่งในแฟนคลับที่ติดตามซีรีส์วายมาตลอด ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ส่วนใหญ่ก็ดูเพื่อความสนุก ความฟินจิกหมอน ไม่ได้สนใจในเรื่อง LGBT ขนาดนั้น เราว่ามันสอดแทรกได้แต่อย่าถึงขั้นยัดเยียด เราเสพเพื่อความบันเทิง ไม่ได้เสพในด้านวิชาการความรู้" ขณะเดียวกัน สำหรับกลุ่มนักอ่านที่ติดตามเฉพาะนิยายวายเพียงอย่างเดียว ก็ยังสนับสนุนในความคิดเห็นดังกล่าวว่า "อ่านแล้วสุขใจมากกว่า สมจริงไม่ต้องก็ได้ ขอแค่สมเหตุสมผลก็พอ นิยายก็ถือว่าเป็นโลกอีกโลกหนึ่งแล้ว ดูเพ้อฝันบ้างแล้วจะทำไม?"

นี่จึงเป็นจุดที่อาจมองได้ว่าซีรีส์วายไม่ได้กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเลยแม้แต่นิดเดียว


ซีรีส์วายเป็น Soft Power ที่ช่วยให้คนในสังคมเริ่มยอมรับ LGBTQIA+ มากขึ้น?


อย่างไรก็ตาม กลับมีคนโต้แย้งสำหรับกรณีนี้อยู่ แม้ว่าต้นกำเนิดของซีรีส์วายจะมาจากการจินตนาการของผู้หญิงที่ฟินกับโมเมนต์ของผู้ชายสองคน อีกทั้งคำว่า วาย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่ม LGBTQIA+ เลยตั้งแต่ต้น แต่ยังมีคนที่แสดงความคิดเห็นว่า "ซีรีส์วายดังขึ้นมาขนาดนี้มันก็ถือว่าสนับสนุนการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ถือว่าเป็น Soft Power นะ คือไม่ได้สนับสนุนสิทธิอื่น ๆ แหละ แต่แค่บอกให้รู้ว่ายังมีกลุ่มคนที่เป็นแบบนี้อยู่เท่านั้น" รวมถึงโปรดิวเซอร์ที่ทำงานเบื้องหลังซีรีส์ก็เห็นด้วยเช่นกัน

"รู้สึกว่ามันเป็นได้ ทำให้รู้ว่า LGBT มีตัวตนจริงและไม่ได้ดูแปลกจากคนอื่น ผู้ใหญ่ก็เข้าใจมากขึ้นด้วย" โปรดิวเซอร์กล่าว

อันที่จริง หากมองในด้านเศรษฐกิจ ซีรีส์วายแทบจะเป็นสิ่งที่น่าลงทุนอันดับต้น ๆ เพราะนอกจากผลตอบแทนของรายได้ที่มาจากตัวซีรีส์เองแล้ว ด้านตัวนักแสดงเองยังมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วย ยิ่งมีแฟนคลับติดตามเยอะ แบรนด์ต่าง ๆ ก็จะจ้างเป็นพรีเซนเตอร์ และซีรีส์วายยังถือเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ มุมมองทางด้านเศรษฐกิจของซีรีส์วายมันช่างหอมหวานจนบางครั้งอาจทำให้หลงลืมตัวตนของคนที่มีอยู่จริง ๆ อย่าง LGBTQIA+ ได้เหมือนกัน

หลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เรื่องไหน ๆ ตัวตนของ เกย์ ที่แสดงภาพเป็น ชายรักชาย พวกเขาถูก stereotype ผ่านบทซีรีส์และกลายเป็นภาพจำหลักของกลุ่มแฟนคลับหรือเรียกตนเองว่า สาววาย ว่าตัวตนชีวิตจริง ๆ ของชายรักชายมักจะต้องเป็นดังภาพที่เห็นในซีรีส์เสมอ แต่โลกของความเป็นจริงมันหลากหลายมากกว่านั้น


นอกจากตัวตนถูกลบเลือน ก็ยังถูกนักแสดงบางกลุ่มฉกฉวยเอาอัตลักษณ์ทางเพศมาหากิน


เพียงเพราะคำว่า ซีรีส์วายมันขายได้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงต้อง ขายวิญญาณ เพื่อสร้างโมเมนต์ให้สาววายจิ้นและฟินไปตาม ๆ กัน

คำว่าขายวิญญาณเป็นคำในลักษณะเปรียบเทียบของคนที่มีคู่จิ้น ซึ่งต้องสร้างโมเมนต์ให้กับคู่ของตนเท่านั้น ห้ามมีความรัก ห้ามมีเรื่องอื้อฉาวกับคนอื่น และผลตอบรับมันก็สมน้ำสมเนื้อทีเดียว หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างง่ายที่สุดคงคล้ายคลึงกับคำว่าเควียร์เบท เมื่อสาววายฟินและชอบเคมีของคู่นี้ ส่งผลให้คู่จิ้นดัง เกิดการติดแฮชแท็กจนไวรัล พอนักการตลาดของแบรนด์มองเห็นยอดเอนเกจ แบรนด์จึงจ้างเป็นพรีเซนเตอร์ สุดท้ายก็ได้ทั้งเงินและชื่อเสียง แต่ในระหว่างนั้น กลับไม่ได้แสดงออกว่าตนสนับสนุนถึงตัวตนของ LGBTQIA+ ที่ได้ฉกฉวยมาเลยแม้แต่นิดเดียว

"ถ้าเอาอัตลักษณ์เขามาหากินอะ ก็ช่วยสนับสนุนหน่อย หรือจะอยู่เฉย ๆ ก็ได้ แค่อย่าแสดงออกว่ารังเกียจในตัวตนนั้นก็พอ" ผู้ที่ทำงานเบื้องหลังของอุตสาหกรรมซีรีส์วายกล่าวตอบเสียงดังฟังชัดเมื่อพูดถึงประเด็นการเควียร์เบทของนักแสดง เธอเป็นทั้งเบื้องหลังและแสดงออกว่าตนเป็นสาววาย ยอมรับว่าฟินเวลานักแสดงขายจิ้นหรือมีโมเมนต์ให้กัน แต่ถ้านักแสดงทั้งขายจิ้นและยังแสดงออกว่ารังเกียจในตัวตนที่ฉกฉวยมาเพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นก็ไม่สมควรที่จะได้รับการยอมรับแล้ว

ทว่าในมุมมองผู้ผลิต มันยากที่จะไม่ให้นักแสดงขายจิ้นเลย เนื่องจากว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ หากผู้บริโภคไม่ฟินแล้วมันจะดังได้อย่างไร

โปรดิวเซอร์ซีรีส์วายเอ่ยสนับสนุนต่อประเด็นการขายจิ้นว่า "ถ้าจะให้ขายได้มันจำเป็นที่จะต้องทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของทีมการตลาดด้วยว่าอยากให้เป็นแบบไหนมากกว่า และถ้าตามแบบทาร์เก็ตคนดูคือสาววาย ส่วนมากเค้าก็อยากให้จิ้นอยู่แล้ว" ขณะเดียวกัน กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยอมรับเกี่ยวกับประเด็นการขายจิ้นนี้ด้วย และมองภาพเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่า ในเมื่อเป็นการขาย อย่างไรแล้วก็ต้องทำเพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจมากที่สุด แต่กลับกลายเป็นหลงลืมคนในคอมมูที่ได้ฉกฉวยเอาอัตลักษณ์ทางเพศของเขามาหากินเสียอย่างนั้น

นาน่ากล่าว "เรารู้สึกว่าการที่เอาบทนิยายวายมาทำมันก็เหมือนดึงดูดเพื่อเรียกเรตติ้งแล้ว สุดท้ายมันก็อยู่ในสโคปของการทำงานคู่กัน ถ้าเอาชายชายมาคู่กันยังไงก็ไม่มีทางที่จะไม่เควียร์เบท"

"ยังไงเขาทำมาก็ต้องสนับสนุนธุรกิจเค้า แต่เขาไม่ได้อยากสนับสนุนเราอยู่ดี ขนาดเหตุการณ์ Pride month ที่คนกลุ่ม LGBTQ ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง ก็ยังมีกลุ่มนักแสดงวายไปชูโปรโมทซีรีส์เลย" คิรินเอ่ยด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ

"บางครั้งคนที่เขาขายจิ้น เขาไม่ได้มานั่งตระหนักอะไรแบบนั้นเยอะแยะว่า ฉันต้องแคร์อะไร อย่างน้อยฉันสามารถทำเงินกับคนกลุ่มนี้ได้ก็พอ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบท ขึ้นกับนักแสดงเท่านั้นที่จะเควียร์เบทหรือไม่ มันไม่ใช่อะไรที่แปลก และเราไม่ได้รู้สึกว่าแย่ เพราะแง่ของธุรกิจมันก็ต้องทำต่อไปแบบนี้แหละเพื่อที่จะได้อยู่รอด" โอเว่นกล่าวทิ้งท้าย


เสียงสะท้อนที่อยากส่งถึง นายทุน สาววายและสังคม


มาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ว่าซีรีส์วายจะเกิดการพัฒนามากขึ้นอย่างไร ทั้งพล็อต นักแสดง และคุณภาพของโปรดักชัน มีการเปิดกว้างให้ตัวละครได้มีความหลากหลายในอาชีพนอกเหนือจากซีรีส์วายในยุคแรก ๆ ซึ่งมีเพียงวัยมัธยมหรือความรักมหาวิทยาลัย รวมถึงความกล้าที่จะทำแนวแฟนตาซี อาทิ พญานาค โอเมก้าเวิร์ส นางเงือก เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่น่าติดตาม จนเกิดเป็น Soft Power สร้างชื่อเสียงหลากหลายด้านให้แก่ประเทศไทย ทว่า กลับไม่สามารถหนีพ้นการขายจิ้นหรือเควียร์เบทได้เลย ในข้ออ้างที่กล่าวว่าเพียงเพื่อต้องการขายแก่สาววายเท่านั้น รวมถึงการถูก stereotype ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากภาพและบทในซีรีส์ก็สร้างความเจ็บปวดต่อคนในคอมมู แต่กลับไม่สนใจและยังคงยึดแนวทางหลักเพื่อตอบสนองสาววาย

อย่างไรก็ตาม เสียงที่คนในคอมมูต้องการฝากถึง ในฐานะที่ถูกขโมยอัตลักษณ์ทางเพศไปเพื่อหากิน อย่างน้อยที่สุดแล้ว คนทำสื่อหรือนายทุนและคนเสพสื่อเหล่านั้นควรจะรับฟังและตระหนักรู้บ้าง

นาน่าแสดงความเห็นว่า "ถ้าต้องการที่จะหากินกับคนกลุ่มนี้ก็ทำต่อไปเหอะเพราะขายได้ แต่อย่าให้ standard อยู่ในระดับที่เท่าเดิมไปเรื่อย ๆ มันควรจะเป็นกราฟที่พุ่งขึ้นไม่ใช่ดิ่งลงเหว มันสามารถที่จะขับเคลื่อนไปสู่สมรสเท่าเทียมที่เค้าเรียกร้องกัน ไม่ว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก มันคือหน้าที่ของซีรีส์ การเป็นสื่อกลางอะ แต่เราเชื่อว่าในสักวันนึง ในตอนที่เราวัย 40-50 ปี เราจะได้ดูผลงานที่ไม่เหี้ยจริง ๆ มีองค์ประกอบศิลป์และบทดี ๆ มากขึ้น"

โอเว่นกล่าวเสริม "อยากฝากคนในสังคม หรือว่าคนที่จะมาได้รับบทบาทในซีรีส์ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้สังคม ใครทำแล้วก็ทำต่อไป แต่ไม่อยากให้เขาเอา LGBTQ เอาคอมมู เอาคำว่าสาววายมาหากิน อยากให้ลองเปิดใจ ยอมรับมัน รักมันจริง ๆ มากกว่ามองเป็นแค่คนที่ให้เศษเงินกับเขาอะ"

"ทำหนังออกมาก็พยายามนึกถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนเท่ากัน เพราะมันสำคัญจริง ๆ สุดท้ายกลุ่ม LGBTQ หรือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศเนี่ย ก็คือคนเท่ากัน ถ้าในอนาคตการทำหนังของเขา หรือสื่อที่เขาผลิตสามารถไปผลักดัน จุดประกายอะไรให้มีกฎหมายที่ทำให้คนในคอมมูได้เท่าทียมกับสเตรทมันจะดีมาก ๆ เลย" คิริน กล่าวทิ้งท้าย

สุดท้ายนี้ ต่อให้โลกทุนนิยมจะช่วยผลักดันให้ซีรีส์วายพัฒนาพล็อตและโปรดักชันแข่งกันไปไกลมากขนาดไหน หากยังติดหล่มเดิม ๆ โดยต้องมีการขายจิ้นและเควียร์เบทในข้ออ้างที่ว่าเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ซีรีส์และเพียงตอบสนองความต้องการของสาววาย ซึ่งยังมีกลุ่มคนที่เจ็บปวดกับสิ่งนี้อยู่ นั่นเท่ากับว่าสังคมอาจจะไม่ได้พัฒนาไปได้มากเท่าที่ควร

นอกจากผู้ผลิตที่อยากขาย สาววายก็อยากซื้อแล้ว ผู้ที่เรียกตนเองว่า สาววาย ยิ่งจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องของคนในคอมมูด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพียงเพื่อต้องการจะฟินอย่างเดียว เพราะอัตลักษณ์ที่กำลังฟินนั้น พวกเขาก็มีตัวตนอยู่ในชีวิตจริงเหมือนกัน

---

ที่มา

THE STANDARD: LINE เปิดผลสำรวจ Y Economy พบ 78% คนดูซีรีส์วายเป็นผู้หญิง กำลังซื้อสูง พร้อมอุดหนุนสินค้าที่ศิลปินเป็นพรีเซนเตอร์

ฐานเศรษฐกิจ: ทิศทางการเติบโต Series Y ไทย สู่ Soft Power โกอินเตอร์ระดับโลก

THE MATTER: Y-Economy : เมื่ออุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นจักรวาลยิ่งใหญ่ในสื่อบันเทิง

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy