แชร์

เบื้องหลังสุดขมของขนมแสนหวาน ช็อคโกแลต ขนมเด็กที่แม้แต่เด็กยังไม่เคยลิ้มลอง

อัพเดทล่าสุด: 17 มิ.ย. 2024
173 ผู้เข้าชม

ไหนใคร ไม่เคย กินช็อคโกแลตบ้าง? อาจสงสัยว่าเราใช้คำถามผิดไปรึเปล่า แต่เราทวนอีกทีแล้วก็ยังคงถามแบบเดิมนั่นแหละ "ใครไม่เคยกินช็อคโกแลตบ้าง?"

คงยากจะเชื่อใช่ไหมว่าขนมหวานแสนอร่อยที่เด็กทุกคนควรจะได้ลิ้มลองมัน ไม่ว่าจะจากเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ อย่างวาเลนไทน์ที่ใช้ ช็อคโกแลต เป็นหนึ่งในของขวัญแทนใจเพื่อสารภาพรักในวันแห่งความรัก โอกาสสำคัญอย่างวันเกิดที่มีช็อคโกแลตเป็นหนึ่งในส่วนผสมของเค้ก เทศกาลฮาโลวีนที่มีลูกอมและช็อคโกแลตรูปร่างต่าง ๆ ไว้แจกเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาวิ่งมาเคาะประตูบ้านพร้อมคำว่า Trick or Treat หรือไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่อยากกินขนมหวานเฉย ๆ ก็สามารถหากินได้อย่างง่ายดายตามร้านสะดวกซื้อ และมีราคาหลายระดับตามคุณภาพที่ลดหลั่นกันไป

ทว่าเด็กที่เป็นแรงงานสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตสำคัญอย่างเมล็ดโกโก้นั้น กลับไม่เคยได้สัมผัสรสชาติของมันเลยสักครั้งเดียว

ประเทศที่ส่งออกโกโก้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างโกติวัวร์ ทวีปแอฟริกา ในช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมานั้นต้องถางป่าไปมากกว่า 80% เพื่อปลูกช็อคโกแลตเพราะดินที่ถูกถางใหม่จะทำให้ต้นช็อคโกแลตสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่า และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

ยิ่งความต้องการช็อคโกแลตในระดับอุตสาหกรรมมากเท่าไหร่ เหล่าเกษตรกรจำเป็นต้องถางป่ามากขึ้นเท่านั้น ทำให้อีก 27 ปีข้างหน้า ช็อคโกแลตจะกลายเป็นของหายากและมีราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากทรัพยากรป่าที่ถูกทำลายร่อยหรอลงทุกวัน อีกทั้งอุณภูมิของโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก

แต่นอกจากปัญหาโลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากการนิยมบริโภคช็อคโกแลตของมนุษย์แล้ว ปัญหาการใช้แรงงานเด็กยังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เด็กกว่า 1.6 ล้านคนในประเทศกานาและโกติวัวร์ต้องมาทำงานในไร่โกโก้เป็นเวลากว่า 13 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดพักและไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ ค่าแรงยังได้รับเพียง 27 บาทต่อวันเท่านั้น

ต่อให้ทำงานเก็บเงินอยู่ที่ไร่โกโก้ทั้งชีวิตยังไม่สามารถซื้อช็อคโกแลตซึ่งเป็นขนมหวานสำหรับเด็กมาลิ้มลองได้แม้แต่เพียงปลายลิ้นเลย

มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เรานึกถึงอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ Wonka (2023) เป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กและครอบครัวพร้อมกลิ่นอายความเป็นมิวสิคัล แต่กลับแฝงประเด็นเสียดสีทั้งเรื่องทุนนิยม นายทุนกินรวบ และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเอาไว้ เรื่องที่สองคือ Charlie and the Chocolate Factory: ชาร์ลีกับโรงงานช็อคโกแลต ที่สอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับการเลือกแหล่งเมล็ดโกโก้เพื่อนำมาผลิตช็อคโกแลตจากชาวอุมปาลุมปาโดยการใช้แรงงานพวกเขา

จากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่ นั่นคือเด็กที่จนอย่างชาร์ลีและนูเดิลไม่มีสิทธิ์จะได้กินช็อคโกแลตอย่างคนอื่นเขา หนำซ้ำยังต้องใช้แรงงานเพื่อแลกเงินหาข้าวกินไปวัน ๆ เท่านั้น หากชาร์ลีไม่โชคดีได้ตั๋วทองเพื่อเข้าโรงงานช็อคโกแลตของวองก้า หรือนูเดิลไม่ได้รู้จักกับวองก้าและร่วมมือกับเขาเพื่อเอาชนะนายทุนกินรวบ เด็กทั้งสองคนนี้อาจไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติหอมหวานของมันเลยตลอดชีวิตก็ได้ทั้ง ๆ ที่ช็อคโกแลตสร้างขึ้นเพื่อเป็นขนมหวานสำหรับเด็ก เป็นขนมอันแสนล้ำค่าที่สร้างความสุข ความฝัน หรืออะไรก็ตามที่จะเป็นไปได้อย่างที่วองก้า (2023) เป็นคนบอกกับนูเดิล

แม้โลกความเป็นจริงของที่มาขนมหวานแสนอร่อยนั้นจะแสนขมปร่า ต้องมีเด็กมากมายทุกข์ทรมาน ใช้แรงงานของพวกเขาเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตมาเป็นช็อคโกแลตให้พวกเราหาซื้อได้อย่างง่ายดาย แต่ปัจจุบันนี้มีแบรนด์ช็อคโกแลตที่เลือกใช้เมล็ดโกโก้จากเกษตรกรอย่างเป็นธรรมโดยไม่ใช้แรงงานเด็กและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดให้เลือกอยู่หลายยี่ห้อเช่นกัน หากผู้บริโภคเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านั้นแทนก็อาจจะพอช่วยให้แบรนด์ที่ยังคงเลือกผลผลิตที่มาจากการใช้แรงงานเด็กอยู่เปลี่ยนแปลงบ้าง และอาจช่วยให้เด็กไม่ต้องใช้แรงงานเพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองไปวัน ๆ แทนที่จะมีชีวิตวัยเด็กที่ดีเหมือนใครอื่นเขาก็ได้

---

ที่มา

ภาพยนตร์ Wonka (2023)

ภาพยนตร์ Charlie and the Chocolate Factory: ชาร์ลีกับโรงงานช็อคโกแลต (2005)

TikTok: greencivil.gc

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy