แชร์

"ไม่มีคำว่าเค็มเกินไป เพราะมันมีไว้เพื่อกินกับข้าว" แต่กินบ่อยเสี่ยงโรค ลดปรุงน้อยลงเพื่อให้ดีต่อสุขภาพ

อัพเดทล่าสุด: 28 พ.ย. 2024
144 ผู้เข้าชม

บ้านไหนที่ได้ลองชิมอาหารฝีมือแม่แล้วลิ้นรับรสได้ว่าเค็มบ้าง พอเราบอกออกไปตามตรงว่า 'ทำไมเค็มจัง' คำที่แม่มักตอบกลับมาคือ 'ไม่เค็มหรอก เดี๋ยวกินกับข้าวก็พอดี' ใช่ค่ะ มันคงไม่ทันได้เค็มหรอกเพราะเรากินข้าวคำพร้อมน้ำอีกห้าอึก

ไม่รู้ว่าประโยคนี้เป็นเฉพาะคนไทยรึเปล่า จะให้มองว่าเป็นเรื่องขำขันในครอบครัวพอได้อยู่ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นติดเค็มและต้องปรุงรสเพิ่มไปแล้ว แต่การกินเค็มต่อเนื่องก็ใช่ว่าจะส่งผลดีต่อร่างกาย หนำซ้ำยังอาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่ส่งออกมาจากคนลงมือทำอาหารมื้อที่สุดแสนจะเค็มแสนเค็มอย่างไม่รู้ตัวนั้นก็ได้

คนไทยกว่า 7 ล้านคนป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารรสจัดและปรุงเค็มเพิ่มขึ้น โดยส่วนมากยังเป็นระยะเริ่มต้น หากไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านั้นก็มักจะมาจากการ รับประทานอาหาร นั่นเอง

อาจสงสัยว่า หากไม่ได้กินเค็มบ่อยแล้วจะส่งผลต่อไตได้ยังไง? จริง ๆ แล้วโรคไตไม่ได้มาจากสาเหตุการทานเค็มอย่างเดียวเท่านั้น เพราะวิธีการปรุงอาหารที่กินแบบรสจัดจ้านถึงใจนั่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคไตได้เช่นเดียวกัน และตัวการสำคัญในเรื่องนี้คือ โซเดียม ที่เป็นผู้ร้ายหลบซ่อนอยู่ในเครื่องปรุงทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่เครื่องดื่มที่มีรสหวานอย่างน้ำอัดลม

แต่จะให้บอกว่าเป็นความผิดของเจ้าโซเดียมอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะโซเดียมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ สมดุลกรดและด่าง การเต้นของหัวใจและชีพจร ที่มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อต่าง ๆ

หากไม่ได้รับในปริมาณที่มากเกินไปที่กำหนดไว้เพียง 1 ช้อนชาต่อวันก็ไม่ต้องห่วงเรื่องโรคไต โรคความดันโลหิต และโรคหัวใจที่อาจจะตามมา

แต่นอกจากนิสัยรับประทานอาหารเค็มอย่างต่อเนื่อง คิดว่ากินกับข้าวจะได้รสชาติที่พอดีแต่กลับส่งผลเสียต่อร่างกายโดยมีโรคภัยไข้เจ็บถามหา การปรุงอาหารรสชาติเค็มหรือจัดจ้านผิดปกติต่างไปจากเดิมอาจเป็นหนึ่งสัญญาณการรับรสของผู้ปรุงทที่เปลี่ยนไปด้วย

เมื่อเข้าสู่วัยชรา แน่นอนว่าระบบต่าง ๆ ในร่างกายต้องเสื่อมถอย สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนอาจเป็นเส้นผมเปลี่ยนสีหรือผิวหนังเริ่มเหี่ยวย่น แต่ส่วนของร่างกายที่เสื่อมถอยแต่เราไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนหากไม่รับรู้ได้ด้วยตัวเองคือ การรับรู้รสชาติ จากเดิมที่เคยมีต่อมรับรสอยู่ประมาณ 10,000 -15,000 ต่อมรับรส แต่เมื่ออายุมากขึ้นต่อมรับรสจะลดลงถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว

หากว่าผู้สูงอายุบ้านไหนได้ปรุงอาหารออกมาในรสชาติที่เค็มกว่าปกติ บางทีอาจจะมีปัญหาเรื่องต่อมรับรสเปลี่ยน อีกทั้งการรับประทานอาหารในรสชาติจัด ๆ บ่อยครั้งเข้าก็ส่งผลต่อโรคภัยในผู้สูงอายุอีก

การปรุงอาหารได้รสเค็มแล้วบอกว่าให้กินกับข้าวตามอาจไม่ใช่วิธีแก้ไขที่เหมาะสมนัก สุขภาพมันอยู่กับเราตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นหากลดปรุงได้น้อยลงจะดีต่อร่างกายยามแก่ชราได้มากเลยนะ

---

ที่มา

กรุงเทพธุรกิจ: เมื่อ 'ต่อมรับรส' เปลี่ยนไป ทำให้ 'ผู้สูงอายุ' กินอาหารได้น้อยลง

ฐานเศรษฐกิจ: ผู้สูงวัยกับความเค็มของอาหาร

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy