5 Stages of Grief วิธีรับมือกับการสูญเสีย: 'มูฟออนยาก' แต่ 'มูฟออนได้' ตามหลักจิตวิทยา
บนโลกใบนี้ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เคยพบเจอกับความสูญเสีย ทุกคนล้วนประสบกันมาแล้วทั้งสิ้นเพียงแต่ความสามารถในการรับมือนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก การสิ้นสุดของความสัมพันธ์ การสูญเสียงาน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียความฝันหรือความคาดหวัง แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้เลย
การเผชิญหน้ากับความสูญเสียทั้งแบบไม่ทันตั้งตัวย่อมสร้างบาดแผลและทำให้เกิดความทุกข์ใจ บางรายอาจส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ตัวอย่างที่มักเห็นกันได้บ่อยคือการยุติความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน หากไม่ใช่เรื่องที่ตนเคยพบเจอกับตัวเอง อาจเป็นเรื่องราวของเพื่อนที่ต้องเลิกกับแฟน เราจะเห็นได้ว่าช่วงแรก ๆ นั้นเพื่อนร้องไห้ กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดแต่ว่าหากไม่มีเขาก็ไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกแล้ว ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นหนึ่งใน 5 Stages of Grief ที่มนุษย์ต้องเจอเมื่อเผชิญกับการสูญเสียนั่นเอง หากสามารถทำความเข้าใจระยะเหล่านี้ได้ บางทีรอยแผลของความเสียใจที่เกิดขึ้นอาจสมานได้ในเร็ววัน
ในหนังสือเรื่อง การตายและภาวะความสูญเสีย เขียนโดย อลิซาเบธ คุเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับการสูญเสีย ได้แย่งระยะของการสูญเสียเอาไว้ 5 ขั้นดังนี้
1.ระยะปฏิเสธความจริง (Danial) ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ได้พบเจอกับความสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัวจะอยู่ในสภาวะช็อคก่อนจะเริ่มปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำในขั้นนี้คือ ตั้งสติ ใช้เวลานั่งทบทวนเหตุการณ์ จากนั้นจะเริ่มค่อย ๆ เข้าใจและรับมือได้ว่ายังไงก็หนีความจริงนั้นไม่พ้น
2.ระยะโกรธ (Anger) เพราะการสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเริ่มทบทวนและเข้าใจเหตุการณ์ได้แล้ว ในระยะนี้คือความรู้สึกโกรธเข้ามาแทนที่ เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องเกิดเรื่องแบบนี้กับตัวเอง และเมื่อความโกรธค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ทางระบายที่ดีที่สุดคือการ express your feeling กับคนที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับตัวเอง การระบายให้เพื่อนสนิทฟัง หรือพูดคุยกับสัตว์เลี้ยง เราไม่จำเป็นต้องกักเก็บความทุกข์ใจเอาไว้ เพราะการได้ระบายออกไปจะช่วยให้ความเสียใจกับความโกรธที่รุนแรงนั้นค่อย ๆ ทุเลาลง
3.ระยะต่อรองกับความสูญเสีย (Bargaining) หลังจากที่ความโกรธค่อย ๆ ทุเลาลงแล้ว ระยะนี้คือช่วงที่กำลังตั้งสติและเริ่มชินชา จะเป็นช่วงเวลาของการหวนอดีต คาดหวังถึงทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้โดยไม่ต้องพบเจอกับความสูญเสีย แต่สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถหลีกหนี Result ที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ ระยะนี้การมีสติและคิดได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
4.ระยะซึมเศร้า (Depression) เป็นช่วงที่เริ่มกลับมาโฟกัสที่ปัจจุบัน แต่ยังมีความรู้เศร้าที่มากกว่า 3 ระยะแรก หากไม่สามารถตั้งสติได้อาจทำให้กลายเป็นซึมเศร้าได้เลย แต่ถ้ายังสามารถมีสติและเข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ดีอยู่ก็จะสามารถตระหนักถึงความจริงและเข้าสู่ระยะสุดท้าย
5.ระยะยอมรับความจริง (Acceptance) เป็นช่วงของการเผชิญหน้าและสามารถรับมือกับความสูญเสียได้ดีที่สุด ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่สามารถย้อนอดีตไปแก้ไขมันได้ หรือต่อให้แก้ไขได้แต่รับรู้ว่าผลลัพธ์อาจไม่เหมือนเดิม ยังไงชีวิตก็ต้องดำเนินต่อและมนุษย์ยังคงต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่ดี
ทั้งหมด 5 ระยะนี้บางคนอาจสลับขั้นกันและต้องเผชิญกับระยะที่แตกต่างออกไป แต่สิ่งที่สำคัญของการรับมือกับความเสียใจเหล่านี้คือ express your feeling หากรู้สึกไม่ดีและรู้สึกแย่ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บมันเอาไว้ หนทางที่ดีที่สุดคือการระบายมันออกมาแล้วความเจ็บปวดนั้นจะค่อย ๆ ทุเลาลง กลายเป็นความทรงจำที่มองย้อนกลับไปแล้วได้เพียงนึกถึงแต่ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอีกแล้ว
อย่างประโยคหนึ่งที่เขาว่ากันว่า เวลาจะช่วยเยียวยาเรา ก็ไม่ใช่ถ้อยคำที่โกหก หนำซ้ำยังสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างตรงไปตรงมา บางคนที่ต้องรับมือกับการถูกบอกเลิกเพื่อจบความสัมพันธ์อย่างไม่ทันตั้งตัวไม่สามารถมูฟออนได้ในเร็ววัน ถึงอย่างนั้นใน 5 ระยะของการรับมือกับความเสียใจก็ไม่ได้กำหนดช่วงเวลาอยู่แล้ว อาจใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือเป็น 10 ปี ต่อให้ระหว่างทางของการมูฟออนนั้นมันยาก แต่สุดท้ายจะสามารถมูฟออนได้แน่นอน
---
ที่มา
PrimoCare: "5 Stages of Grief" วิธีรับมือกับการสูญเสีย ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง
---
About the author: ฬ. Jula