จากผีสู่พุทธ: การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความเชื่อในสยามประเทศ
นับตั้งแต่ในอดีต กว่าสยามประเทศจะเหลือเพียงแค่ด้ามขวาน สังคมสมัยนั้นล้วนมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี และภาษาที่ใช้สื่อสาร สังเกตได้จากทางภาคเหนือและภาคใต้ที่มีวัฒนธรรมความเชื่อที่โดดเด่นแตกต่างจากของไทยเดิม
ทางภาคเหนือเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา มอญ และสิบสองปันนา ซึ่งคนท้องถิ่นย้ายรากฐานมาอยู่ทางตอนเหนือของไทย ส่วนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของคนท้องถิ่นบริเวณคาบสมุทรแหลมมลายูและแหลมอินโดจีนมาตั้งแต่ต้น โดยได้รับรับวัฒนธรรมทางภาษาและอื่นๆ ผ่านทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม
หรือในช่วงสมัยอยุธยาเอง ที่ทำให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์จากการค้าขายและการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารี อีกทั้งยังมีหมู่บ้านของคนจีนที่มาทำการค้าขายกับสยามโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลมายังปัจจุบันที่ทำให้ทั้งศาสนาและความเชื่อของไทยมีความหลากหลายและผสมปนเปกันได้อย่างกลมกลืน
เดิมทีก่อนที่สังคมไทยจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาอื่น ๆ สิ่งที่เรานับถือกันเป็นหลักคือ "ผี" ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษ ผีที่เกิดจากคนตายไปแล้ว หรือผีที่นับว่าเป็นเทวดาเพื่อช่วยปกปักษ์รักษาให้แคล้วคลาดปลอดภัย รวมทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของการ "ทำของ" หรือ "สาปแช่ง"
ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธมา คนมักเชื่อว่าการทำของใส่หรือสาปแช่งนั้นส่งผลจริง หรือการที่คนอื่นกล่าววาจาสาปแช่งแก่เรา ในเวลาไม่นานอาจทำให้เกิดผลตามคำที่เขาสาปแช่ง แต่หลังจากที่ได้รับศาสนาพุทธที่เชื่อเรื่องเวรกรรมซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของบุคคลผู้นั้น คำอธิบายตามหลักศาสนาอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เขาสาปแช่งอาจไม่ส่งผลจริงได้หากเขาแช่งจากสิ่งที่เราไม่ได้ทำหรือเป็นการสาปแช่งเพื่อความสะใจ แต่ในกรณีที่คนสาปแช่งจากสิ่งที่เราทำ อีกไม่นานผลการกระทำนั้นก็จะสะท้อนกลับมาหาตัวเราและเป็นไปตามคำที่คนอื่นสาปแช่งไว้ตามหลักศาสนาพุทธที่เชื่อเรื่อง "กรรมคือผลของการกระทำ" นั่นเอง
ส่วนพิธีการสาปแช่งอย่าง "เผาพริกเผาเกลือ" ของคนโบราณนั้นเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮินดูโบราณที่บันทึกเอาไว้ในหนังสือว่า "ผู้ที่มีความโกรธแค้นต่อผู้ใด ให้หยิบเกลือมาหยิบมือหนึ่ง ถ้าเป็นเวลาเช้าหันหน้าไปยังบูรพาทิศ กล่าวคำสาบานแช่งด่าผู้ที่ตนโกรธแค้นนั้นพอแรงแล้ว จึงรดน้ำลงที่เกลือ หมายว่าจะให้ผู้ที่เป็นศัตรูนั้นฉิบหายละลายไปดุจดังเกลือละลายน้ำ"
"ถ้าเป็นเวลาเย็น ต้องหันหน้าไปยังประจิมทิศสาบานแช่งด่าผู้ที่โกรธนั้นเสียให้มากๆ จนพอแก่ความแค้นแล้ว จึงเอาเกลือหยิบมือหนึ่งนั้นสาดเข้าในกองไฟ หวังให้ผู้เป็นศัตรูที่โกรธแค้นกันนั้น แตกประทุกระจายดุจดังเกลือประทุแตกระเบิดป่นไปด้วยไฟ" (ที่มา: ทศพรรษ พชร เพจร้อยคำหอม)
ซึ่งพิธีการสาปแช่งนี้ได้ผสมรวมกับความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นของฮินดูหรือพุทธก็ตาม ส่วนผลลัพธ์ที่แท้จริงนั้นไม่มีใครล่วงรู้ได้ เนื่องจากความเชื่อคือสิ่งที่เรียกว่านามธรรม
อย่างไรก็ตาม ด้วยสังคมไทยที่เป็นพหุวัฒนธรรม การเคารพความเชื่อและศาสนาอื่น ๆ โดยไม่เหยียด ไม่สร้างความเกลียดชังต่อสิ่งที่แตกต่างนั้นนับเป็นสิ่งดีงามเสมอ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างได้อย่างสงบสุขนั่นเอง
---
ที่มา
MGR Online: คนใต้มาจากไหน?/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่: สังคมพหุวัฒนธรรมคืออะไร
Museum Saim: เผาพริกเผาเกลือ
---
About the author: ฬ. Jula