กับดักแห่งความกลัวไร้งาน ผิดที่ AI หรือผิดที่เรา?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เติบโตอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาล หลายคนจึงกลัว AI จะมาแทนที่มนุษย์และเหตุผลนี้ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับการทำงานอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ การที่บางครั้ง AI สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองและทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ ทั้งยังไม่รู้ว่า AI จะพัฒนาไปในทิศทางใดจึงทำให้เกิดความกลัวว่าอาจสูญเสียการควบคุมต่อเทคโนโลยีที่สร้างขึ้น
หนึ่งในความกังวลที่ใหญ่ที่สุดคือ การกลัวที่จะสูญเสียงาน ซึ่งมักเป็นงานประเภทที่เคยต้องใช้มนุษย์มาก่อน เช่น งานที่ทำซ้ำๆ งานที่ต้องการความแม่นยำสูง หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หลายคนจึงกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียรายได้และความมั่นคงในชีวิต สาเหตุเป็นเพราะ AI จริงหรือ?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษยรู้สึกถูกลดทอนความสำคัญหรือคุณค่าในด้านการทำงานลงยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เคยถูกพูดถึงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจากการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง ทิดน้อย ที่ได้นำค่าตัวของนักแสดงนำมาเป็นจุดขายของหนัง โดยกล่าวว่า ค่าตัวอั้มสร้างหนังได้ 1 เรื่อง ค่าตัวอนันดาซื้อคอนโดฯแถวทองหล่อได้ 1 หลังพร้อมรถด้วย จนเกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรงในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนที่คนทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังมีช่องว่างของค่าตอบแทนห่างกันเกินไป รวมถึงลักษณะการทำงานที่หนักหน่วงเกินค่าจ้าง แต่กลับได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าดาราที่ใช้ชื่อเสียงในการเรียกค่าตัวได้
แต่หากมองอีกมุมจะทราบว่าดารา นักแสดง หรือคนทำงานเบื้องหน้าก็มีต้นทุนที่ต้องแลกมาซึ่งความอดทนเวลาในการพัฒนาความสามารถและหาโอกาสในการทำงานอยู่เสมอต้องทำให้ตัวเองโดดเด่นเป็นที่รู้จักโดยไม่มีใครแทนได้ ไม่ว่าค่าจ้างเท่าไรลูกค้าก็พร้อมที่จะจ้าง
ซึ่งต่างจากคนทำงานเบื้องหลังบางคนที่จะเป็นใครมาทำแทนก็ได้ เพราะผู้ว่าจ้างต้องการแค่ผลลัพธ์จึงไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าเป็นคนเดิมเท่านั้น การที่พวกเขาเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนน้อยและไม่มั่นคง สาเหตุเป็นเพราะ AI จริงหรือ?
จากการเปรียบเทียบข้างต้นอาจช่วยตอบคำถามได้ว่าสาเหตุเป็นเพราะ AI จริงหรือไม่ในเมื่อปัจจุบัน AI ยังมีข้อจำกัดในด้านการทำงานอยู่มาก มีจุดบกพร่องให้มนุษย์ต้องคอยตามแก้จึงไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100% เพียงแต่เป็นผู้ช่วยของเราได้ ความกลัวจะไม่ช่วยอะไรเลย
หากเราไม่ศึกษาทำความเข้าใจและรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แทนที่มนุษย์จะไปกังวลว่าจะมีใคร หรืออะไรมาแทนที่ควรเปลี่ยนเป็นการพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการจ้างงานและเตรียมพร้อมรับมือสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
ในอนาคต AI จะเติบโตและมีความสามารถในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะหากมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงให้ทันกับการเปลี่ยนไป สุดท้ายต่อให้ไม่มี AI มนุษย์ก็จะถูกแทนที่ด้วยมนุษย์อยู่ดี
ที่มา : Techsauce : AI แย่งงานมนุษย์ไม่ได้ (เร็วๆ นี้) เพราะยังไม่พร้อมทำงานจริง
Medium: AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่?
Matichonweekly : โลกของกองถ่าย กับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://techsauce.co/tech-and-biz/ai-not-ready-yet
https://totdatacom.medium.com/ai-จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่-aba040eab0bc
https://www.matichonweekly.com/column/article_646107