130 ต่อ 4 เสียง ประวัติศาสตร์บทใหม่บนกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ผ่านแล้วที่ประเทศไทย!
ในที่สุดความฝัน ความหวังของคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทยก็กลายเป็นความจริง 18 มิ.ย.ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 130 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง เมื่อกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายในสังคมไทย การประกาศใช้กฎหมายนี้จะเกิดขึ้นภายใน 120 วันหลังจากที่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งหมายความว่า คู่รักเพศเดียวกันจะสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายอย่างถูกต้องและได้รับสิทธิและหน้าที่เหมือนกับคู่สมรสเพศตรงข้าม
เส้นทางสู่ความเท่าเทียมของความรักที่กำลังเกิดขึ้น
การต่อสู้เพื่อสิทธิในการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยาวนานและเต็มไปด้วยความท้าทาย องค์กรและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มได้ร่วมมือกันผลักดันประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยย้ำถึงความสำคัญของการให้สิทธิที่เท่าเทียมและความยุติธรรมสำหรับทุกคน ใช่เลือกปฏิบัติต่างกันเพราะการจำกัดเฉพาะเพศ ทั้งที่สุดท้ายอยู่บนพื้นฐานความรักเหมือนกัน
นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน เป็นประเทศหรือดินแดนที่สามในทวีปเอเชีย ที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ต่อจากประเทศเนปาล และไต้หวัน
และเป็นประเทศหรือดินแดนที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายรับรอง นับตั้งแต่ประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน คือ เนเธอร์แลนด์ มีผลเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2544
เส้นทางกว่าฝันที่เป็นจริงของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยจะเกิดขึ้น ต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ กับคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมากกว่า 19 ปี แต่ถูกปฏิเสธเพราะนายนทีและคู่ชีวิตเป็นเพศชายทั้งคู่ ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448, 1449, 1450 และ 1458 กำหนดให้การจดทะเบียนสมรสจะต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น
ในยุคปัจจุบัน ประเทศในแถบยุโรปได้ยอมรับการจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน อีกทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่กำหนดในเรื่องสิทธิในการสมรสของชายและหญิง และพิจารณาสาระสำคัญของการมีครอบครัว ตลอดจนครอบคลุมไปถึงความผูกพันของบุคคลที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
การผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสได้ จึงเริ่มต้นอย่างจริงจังขึ้นในขณะนั้น โดยมีภาคประชาชนและคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันเคลื่อนไหว แต่สภาวะการเมืองไทยที่ไม่แน่นอน ผ่านการรัฐประหาร และการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จึงทำให้การผลักดันร่างกฎหมายหยุดชะงักเป็นระยะ
แม้ว่าในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนพรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรก ผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อปี 2565 แต่เพราะตอนนั้นสภาล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระ กฎหมายจึงถูกตีตกไป
มาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน วันที่ 21 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอให้พิจารณา จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของคณะรัฐมนตรี ฉบับของพรรคก้าวไกล ฉบับของกลุ่มนฤมิตไพรด์ นำโดย อรรณว์ ชุมาพร และฉบับของนายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา
กระทั่งวันที่ 27 มี.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 400 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ส่งต่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาดังกล่าว
กฎหมายที่มาพร้อมกับความคาดหวังมากมายและหลากหลาย
การผ่านกฎหมายนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับสิทธิในการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและความเปิดกว้างของสังคมไทยต่อความหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้ การที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย เช่น การเพิ่มโอกาสในการจัดพิธีสมรส การเพิ่มการใช้จ่ายในการวางแผนชีวิตร่วมกัน รวมถึงการสร้างความมั่นคงในชีวิตคู่และครอบครัว
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า คู่สมรส แทนคำว่า สามีและภริยา เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยกำหนดอายุขั้นต่ำ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนการหมั้น กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเป็นเพศใดสามารถหมั้นกันได้ตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น รวมถึงกรณีคู่สมรสเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก การแบ่งทรัพย์มรดกกรณีคู่สมรสผู้ตายเป็นเจ้ามรดก และการจัดการหนี้สินของคู่สมรส เป็นต้น
เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่หลากหลาย
หลังจากการประกาศใช้กฎหมายนี้ภายใน 120 วัน คู่รักเพศเดียวกันสามารถเตรียมตัวสำหรับการสมรสตามกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรส การจัดพิธีสมรส หรือการวางแผนชีวิตคู่ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ยังคงมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีสิทธิ์เสรีในการดำเนินชีวิตตามความต้องการของตน
การผ่านกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทยเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับและสนับสนุนสิทธิของคู่รัก เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า สู่ความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เปิดกว้างให้ความรักสามารถเกิดขึ้นโดยไร้ข้อจำกัด และสามารถดูแลกันบนความมั่นคงที่มาจากความรักของคนเหมือนกัน ขอแสดงความยินดีกับก้าวสำคัญของหลายๆคนด้วย