แชร์

เบื้องหลังการจราจรทางอากาศ: รู้จักกับ Air Traffic Controller

อัพเดทล่าสุด: 19 มิ.ย. 2024
219 ผู้เข้าชม

เวลาขึ้นเครื่องบิน เราจะเห็นพนักงานคอยบริการที่อยู่ภาคพื้นหรือในสนามบิน คอยจัดการเรื่องตั๋ว กระเป๋าเดินทาง และให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ก่อนจะขึ้นเครื่อง หลังจากขึ้นเครื่องมาแล้ว หน้าที่ต่อมาที่จะเป็นผู้พาเราไปยังเป้าหมายของการเดินทางคือกัปตัน ส่วนผู้ให้บริการดูแลตลอดการเดินทางคือแอร์โฮสเตส

แต่ยังมีอีกหนึ่งอาชีพ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของผู้โดยสาร คือ "Air Traffic Controller (ATC) เจ้าหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ" นั่นเอง

ลองนึกภาพดูว่า แต่ละประเทศกว่า 195 ประเทศทั่วโลก มีผู้คนเดินทางโดยใช้เครื่องบินโดยสารกี่ครั้งต่อชั่วโมงในระยะเวลาเดียวกัน หากมีการบินข้ามประเทศด้วยแล้ว น่านฟ้าด้านบนจะมีเครื่องบินมากมายนับพันลำจราจรพร้อมกันอยู่บนอากาศเลยทีเดียว

เพราะการบินขึ้นสูงโดยไม่ได้มีพื้นถนนที่แบ่งเลนจราจรไว้อย่างชัดเจน ด้วยการบังคับเครื่องบินของนักบินเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจช่วยให้เราไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย หน้าที่ในการควบคุมการจราจรทางอากาศหรือ ATC นี่แหละจึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการบิน

Air Traffic Controller (ATC) หรือเจ้าหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแล กำหนดทิศทาง ความเร็ว เพดานบินของเครื่องบินเพื่อให้เคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่สนามบินต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงมีหน้าที่จัดลำดับและบริหารจัดการให้เที่ยวบินสามารถบินได้อย่างคล่องตัวตามเวลา Boarding Pass ของผู้โดยสารด้วย

การจะเป็น ATC นั้นต้องมีทักษะที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการเป็นหลัก คือ

1.      ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ เพราะ ATC ต้องสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

2.      ทักษะการสื่อสาร เนื่องจากการทำงานของ ATC ขึ้นอยู่กับเวลา จึงต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความผิดพลาดระหว่างการทำงาน

3.      ความสามารถในการจัดการความเครียด แน่นอนว่าการทำงานที่ขึ้นอยู่กับเวลาและต้องคำนึงถึงผลกระทบของผู้คนส่วนมากต้องเกิดความเครียด ดังนั้นทักษะที่สามารถทำงานภายใต้ความกดดันสูงจึงเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพนี้ ATC รวมถึงต้องสามารถรักษาสมาธิและความเยือกเย็นในสถานการณ์วิกฤตได้

4.      ความรู้ทางเทคนิค ต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบนำทาง การใช้งานเรดาร์ และกฎการบินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ลงจอดฉุกเฉิน ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ได้รู้ว่าหน้าที่ของ ATC เป็นส่วนสำคัญจริง ๆ เพราะการลงจอดฉุกเฉินของเที่ยวบินที่ไม่ได้อยู่ในตารางนั้นต้องใช้การบริหารจัดการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ลงจอด การเตรียมรับมือกับผู้โดยสาร รวมถึงเที่ยวบินอื่น ๆ ที่ต้องขึ้นบินและลงจอดในเวลาเดียวกันให้สามารถเป็นไปอย่างปลอดภัย

เพราะ ATC ไม่ได้ทำหน้าที่หนึ่งคนต่อเครื่องบินหนึ่งลำ มันคือการทำงานพร้อมกันเป็นทีมโดยมีหน้าที่แต่ละฝ่ายแบ่งกันอย่างชัดเจน หากสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤตนี้ คุณไม่สามารถรับมือจนเกิดการสติแตกขึ้นมา ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อฝ่ายอื่น ๆ ในภายหลังได้

นอกจากลักษณะการทำงานที่ต้องเคร่งเครียดแล้ว การจะสอบเข้าเพื่อได้ทำในตำแหน่ง ATC ก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน ประการแรก ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการบินในระดับปริญญาตรีก่อน อย่างสาขาการจัดการการบิน (Aviation Management) วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) เทคโนโลยีการบิน (Aviation Technology) หรือวิทยาศาสตร์การบิน (Aviation Science)

จากนั้นถึงต้องผ่านการสอบและสัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เพื่อเข้าอบรม 3-4 เดือนแล้วไปทดสอบครั้งที่ 2 บรรจุตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป ถัดมาไปอบรมต่ออีก 8 เดือนเพื่อทดสอบครั้งที่ 3 ไปคัดเลือกศูนย์ควบคุมการบินที่เหมาะสมในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ข้อมูลการบิน จากนั้นออกไปฝึกเป็นเวลา 1 ปี เพื่อสอบเลื่อนขั้นครั้งที่ 4 และได้ทำงานใน Aerodrome Controller สุดท้ายคือการทดสอบเลื่อนขั้นครั้งที่ 5 เพื่อคัดแยกว่าจะได้ปฏิบัติงานควบคุมด้านใด แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ Approach Control และ Area Control

แม้ว่าจะเป็นงานที่ต้องเคร่งเครียดในเวลางานมาก ๆ แต่หลังจากเลิกงานแล้วไม่จำเป็นต้องนำงานกลับไปเครียดที่บ้านต่อ จบงานแค่ตรงไหนก็คือจบตรงนั้น อีกทั้งชั่วโมงการทำงานน้อย แต่ต้องยอมรับว่าการเข้า-ออกงานจะไม่ค่อยตรงกับชาวบ้านชาวช่อง คือมีชั่วโมงการทำงาน 12 ชั่วโมง ทำงาน 2 ชั่วโมง แล้วพัก 1 ชั่วโมง (Control เครื่องบิน 1 ชั่วโมง และ Assistant 1 ชั่วโมง) เข้าเวร Morning Shift เริ่ม 08.00 - 20.00 น. แล้วพัก 24 ชั่วโมง แล้วสลับมาเข้า Night Shift เริ่ม 2 ทุ่ม เลิก 8 โมงเช้า แล้วถึงจะพัก 48 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ATC ไม่จำเป็นต้องเรียนสายวิทย์-คณิตเพียงอย่างเดียว ขอแค่จบปริญญาตรีสาขาการบินและมีความสามารถที่จะสอบผ่านให้ครบทั้ง 5 ด่าน รวมถึงมีทักษะภาษาอังกฤษด้วยก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้แล้ว

---

ที่มา

ทรูปลูกปัญญา: ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ

Admission Premium: ไม่มีคำว่า หยุด สำหรับ ATC (Air Traffic Controller)

ThaiPBS: รู้จัก ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ แต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร

Pantip: อยากรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับ Air Traffic Controller เจ้าหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ

ไทยรัฐ: เครื่องบินโดยสาร ลงจอดฉุกเฉิน "สุวรรณภูมิ" เสียชีวิต 1 เจ็บกว่า 20

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy