ฝึกฝนให้เหมือนการเล่นเกม: 10,000 ชั่วโมงกับแนวคิด Gamification
เคยได้ยินแนวคิดที่ว่า จงฝึกฝนให้ครบ 10,000 ชั่วโมงแล้วคุณจะประสบความสำเร็จไหม แนวคิดนี้มีที่มาจากหนังสือ Outliers: The Story of Success ของ Malcolm Gladwell โดยแนะนำว่าหากต้องการชำนาญด้านใดด้านหนึ่งให้ใช้เวลาอยู่กับมันอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะประสบความสำเร็จ นับดูแล้วก็ใช้เวลาถึงปีกว่าเลยทีเดียว
แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ต้องการให้ลองฝึกฝนจนครบเวลาเท่านั้น แต่เป็นการฝึกฝนที่ต้องตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนด้วยว่าระยะทางที่คุณกำลังบุกป่าฝ่าดงอย่างทรหดนี้มันจะพาคุณไปสู่สถานที่ใด มีการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนรวมถึงได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในระหว่างฝึกฝนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างจากการฝึกฝนครบ 10,000 ชั่วโมงจนเชี่ยวชาญในด้านนั้นที่เห็นภาพได้ชัดเจนคือนักกีฬาหรือนักดนตรี ด้วยทักษะของผู้ชนะยามประจักษ์บนสนามและเวทีแสดงทำให้รู้ได้เลยว่า กว่าจะเก่งได้ขนาดนี้ พวกเขาต้องฝึกฝนและซ้อมกับมันเป็นประจำ กว่าร่างกายจะประสานกันกับเครื่องดนตรีโดยไม่ต้องดูโน้ต ใช้ความรู้สึกและความคุ้นเคยนำทางก็ต้องซักซ้อมกับเครื่องดนตรีจนแทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย และทำให้เห็นได้เลยว่าการฝึกซ้อมมาอย่างยาวนานคุ้มค่าที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จริง ๆ
ทว่าแนวคิดนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง สิ่งที่ท้าทายในช่วงของการฝึกฝนเพื่อให้ครบ 10,000 ชั่วโมงไม่ได้มีแค่ปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกปัจจัยมันสามารถส่งผลกระทบต่อระยะทางของการประสบความสำเร็จเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของร่างกาย จิตใจ สภาพการเงิน สังคมที่อยู่ สภาพแวดล้อม หรือโอกาสที่เข้ามาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม บางเป้าหมายอาจสูงเกินจะเอื้อม การฝึกฝนซ้ำ ๆ แค่ 10,000 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอที่จะไขว่คว้าความสำเร็จนั้นมาได้
แต่เราอยากเสนออีกหนึ่งมุมมอง บางทีการนึกถึงภาพตนเองฝึกฝนถึง 10,000 ชั่วโมงออกจะกว้างเกินไปหน่อยจนอาจมีความคิดลบ ๆ ผุดขึ้นมาในหัวทันทีว่า ตั้งหมื่นชั่วโมงเลยนะ นานไปรึเปล่า ถึงเวลานั้นคงเบื่อและล้มเลิกไปเสียก่อนแน่ ๆ ถ้าอย่างนั้น ลองเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายให้เหลือแค่ 500 ชั่วโมงดูก่อนดีไหมล่ะ? แค่ 20 วันเท่านั้นเอง คงไม่ยากเกินไปหรอกใช่ไหม?
จากตั้งเป้าไว้ให้ครบตั้งหมื่นนึง ลดให้เหลือแค่ห้าร้อย นี่ยิ่งกว่าราคา Sale 90% ตามป้ายสินค้าบนห้างเลยนะ เพิ่มความสนุกระหว่างการฝึกฝนด้วยการทำเป้าหมายให้เป็นแบบขั้นบันไดหรือ Level ของเกมตามแนวคิด "เกมิฟิเคชัน (Gamification)" ได้อีกด้วย
ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการนำองค์ประกอบของเกมไม่ว่าจะเป็นการได้รับ Reward จนเปลี่ยน Level มีการสะสม Point หรือได้รับ Quests เพิ่มจากด่านปกติมาใส่ไว้ในการทำงาน การเรียน การซื้อขายสินค้า ทั้งนี้เพื่อสร้างความสนุกสนานและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เข้าร่วม
เมื่อสังเกตจากสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะการซื้อขายสินค้า จะมีโปรโมชันบางอย่างที่ทำให้เราต้องสะสม Point หรือเก็บแต้มเป็นจำนวนครั้งที่ซื้อ จนหลังจากได้แต้มครบก็จะได้รางวัลเป็นผลตอบแทนอย่างสินค้าฟรีเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น หรือแลกของอื่น ๆ ได้ตามสินค้าที่ร่วมรายการ นี่ก็เป็นหนึ่งในการนำองค์ประกอบของเกมมาใช้ทำการตลาดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าเช่นกัน
ย้อนกลับมาที่การทำงานหรือฝึกฝนเพื่อให้ชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะการมองภาพเป้าหมายที่ 10,000 ชั่วโมงมันกว้างเกินไปและรู้สึกว่าไม่น่าจะมีทางทำถึงได้แน่นอน หากมีองค์ประกอบของเกมใส่เข้าไปด้วยอาจทำให้เป้าหมายของการฝึกฝนจนครบ 10,000 ชั่วโมงสำเร็จผลโดยไม่ทันตั้งตัวเลยก็ได้ ยิ่งลดระยะเวลาให้เหลือเพียงขั้นละ 500 ชั่วโมงก็ยิ่งจูงใจทำ พอเราประสบความสำเร็จในแต่ละขั้นและได้รับรางวัลเมื่อทำได้แล้ว ทุกการอัปเลเวลใหม่เราจะคิดได้ว่า "นี่ไงล่ะ ฉันทำได้แล้วและได้รางวัลด้วย! มันก็ไม่ใช่เรื่องยากนี่นา"
ทั้งนี้ อย่าลืมคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไม่สามารถควบคุมได้ด้วย แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ดี แต่การระวังเอาไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องเสียหาย ส่วน ณ ตอนนี้ หากใครมีเป้าหมายแล้วอยากจะไปให้ถึงฝัน ขอแค่เริ่มคิดจะทำ นั่นก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่สำหรับการเริ่มต้นแล้ว
---
ที่มา
หนังสือ Outliers: The Story of Success ของ Malcolm Gladwell
THE MATTER: เก่งมาก! เดือนนี้คุณทำงานครบ 500 ชั่วโมงแล้ว : หลุมพรางของการทำทุกอย่างให้เป็นเกม
Peoples: กฎ 10,000 ชั่วโมง ใช้ได้ผลกับบางเรื่อง พบหลักการใหม่ แค่ 20 ชั่วโมง ก็โอเคแล้ว By 100WEALTH
---
About the author: ฬ. Jula