'ไอดอลวัยใส' ผลกระทบของการเดบิวต์ศิลปินช่วงอายุยังน้อย
แทบจะกลายเป็นภาพปกติของสังคมไปแล้วที่เราจะเห็นการเดบิวต์ไอดอลด้วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีการส่งออกวัฒนธรรมผ่าน K-POP และ J-POP ออกไปทั่วโลกจนกลายเป็นจุดขายของประเทศ ทว่าภาพที่เริ่มจะมองเป็นเรื่องปกติเหล่านั้นมัน 'ไม่เคยปกติ' และควรที่จะตระหนักถึงปัญหามากกว่านี้
การที่เด็กและเยาวชนมีความสามารถมากพอที่จะเป็นไอดอล ไม่ได้หมายความว่าพวกเขา 'พร้อม' สำหรับการอยู่ในวงการบันเทิงได้อย่างเต็มร้อย ความสำเร็จและโอกาสในอนาคตข้างหน้าเมื่อถึงคราวเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กเหล่านั้นจะได้รับอาจได้ไม่คุ้มเสียสำหรับบางสิ่งที่ต้องเสียไประหว่างทางการเป็นศิลปินก็ได้
ประเด็นแรกคือเรื่องของการศึกษา ไอดอลที่ยังเป็นเด็กและเยาวชนมักอยู่ในวัยเรียน บางครั้งต้องสละเวลาเรียนเพื่อการฝึกซ้อมหรือบางรายอาจละทิ้งการเรียนเพื่อทำตามความฝันของการเป็นไอดอลเพียงอย่างเดียว ทว่าผู้ที่ต้องแบ่งเวลาไปทำทั้งสองอย่าง ทั้งการเรียนและการทำงาน นอกจากเป็นเรื่องท้าทายต่อวินัยของตัวเด็กเองก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอตามวัยที่ควรจะเป็น
และประเด็นเรื่องสุขภาพคือประเด็นที่สองที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะการฝึกซ้อมอย่างหนักและใช้เวลาติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เด็กเครียด เหนื่อยล้า หรือมีปัญหาจิตใจในด้านอื่น ๆ โดยที่เด็กอาจไม่รู้ตัว
ประเด็นที่สามคือเรื่องของสิทธิและสวัสดิการ การให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมาทำงานในฐานะไอดอล เด็กต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบ ในบางกรณี บริษัทอาศัยเอาช่องว่างของความไร้เดียงสาทางกฎหมายและการต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่มาเอาเปรียบเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเกินเวลา ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงอาจถูกชักจูงความคิดให้คล้อยตามได้ง่ายกว่า
ถัดมาในประเด็นที่สี่ เรื่องของการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด เด็กในวัยนี้เป็นช่วงที่กำลังเติบโต การพัฒนาทางด้านอารมณ์ย่อมอ่อนไหวได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งการทำงานในวงการบันเทิงไม่ใช่เรื่องที่ใครก็รับมือได้ง่าย ๆ เพราะมันมีทั้งความคิดเห็นของคนอื่น แฟนคลับ แอนตี้ หรือซาแซง (ซาแซง หมายถึง ผู้ที่ตามติดศิลปินที่ชอบมากเกินความพอดี มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวโดยอาศัยช่องโหว่ของคำว่าชื่นชอบศิลปินมาทำเรื่องน่าอายให้ตัวศิลปินเดือดร้อน บางรายที่เข้าขั้นคลั่งไคล้หนัก ๆ อาจเรียกได้ว่าเป็น 'สตอล์กเกอร์' ก็ได้) ที่จะคอยด่าหรือชื่นชมอยู่เสมอ เด็กในวัยนี้อาจต้องรับมือกับความคิดเห็นที่ไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติ และต้องคอยรับแต่คำหยาบคายที่กล่าวถึงตนเองซ้ำ ๆ จนทำให้มีความเครียดและความกดดันมากเกินไปได้
อย่างไรก็ตาม ต่อให้จะมีกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนในวงการบันเทิงไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่กำหนดชั่วโมงการทำงาน การพักผ่อน การศึกษาของเด็ก การให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา และการจัดตารางการทำงานอย่างเหมาะสม ก็ไม่ได้ทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตที่ควรจะเป็นตามช่วงวัยของเด็กอยู่ดี อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องโหว่ให้เกิดการคุกคามทางเพศต่อตัวเด็กซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เลย
แม้ว่าการเป็นไอดอลจะเป็นความฝันของเด็กหลาย ๆ คนที่อยากอยู่บนเวทีและชื่นชอบในการมอบความสุขให้กับคนอื่น ๆ ทว่าข้อดีที่ได้นั้นเทียบไม่ติดกับสุขภาพจิตใจและร่างกายที่ต้องเสียไประหว่างทางเลย
---
About the author: ฬ. Jula