แชร์

ลงทุนอย่างไรให้งอกเงย

อัพเดทล่าสุด: 30 มิ.ย. 2024
212 ผู้เข้าชม

'เงิน' แทบจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดแล้วในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ต้องใช้เงินเพื่อแลกมาทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนเพื่อสะสมเงินให้งอกเงยและสร้างมูลค่าเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมในอนาคต ด้วยเศรษฐกิจเริ่มย่ำแย่ ค่าครองชีพขึ้นสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ 'การลงทุน' จึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคตจะได้ไม่ต้องลำบากในภายภาคหน้านั่นเอง

แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนมากนักเพราะแค่เงินที่ได้ในแต่ละวันก็ถูกใช้ไปกับค่าครองชีพจนไม่เหลือเก็บแล้ว ทว่าชีวิตในอนาคตยามแก่ตัวลงหรือเป้าหมายสูงสุดคือต้องการอยู่สุขสบายในชีวิตหลังเกษียณก็จำเป็นต้องใช้เงินอยู่ดี

ในฐานะมือใหม่ที่เริ่มสนใจเกี่ยวกับการลงทุนเหมือนกัน จึงอยากแชร์ความรู้ในการลงทุนอย่างง่ายที่สุดให้พอรู้จักกันบ้างสักเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นความรู้ติดตัว

แล้วมือใหม่หัดลงทุนควรเริ่มจากอะไรดีล่ะ? สิ่งแรกที่ต้องลิสต์ไว้คือ เป้าหมาย ในอนาคตว่าต้องการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยด้วยวัตถุประสงค์อะไร เช่น การเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน มีเงินใช้หลังเกษียณ เก็บเงินสำรองยามฉุกเฉิน เมื่อรู้เป้าหมายแล้วก็ต้องมานั่งศึกษาต่อว่าความเสี่ยงหรือผลตอบแทนที่ได้จะเป็นอย่างไรเมื่อเราลงทุนไปแล้ว

แต่ด้วยประโยคที่คนมักเตือนอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน" มักทำให้รู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะลงทุน ทว่าการเลือกที่จะไม่ลงทุนเลยแล้วเงินที่มีอยู่ร่อยหรอไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลือสำรองยามเกษียณมันน่ากลัวเสียอย่างกว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนเสียอีก

ฉะนั้น เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ควรที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนบ้างเพื่อให้มีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน มีการวางแผนการเงินทั้งรายรับและรายจ่ายอย่างเหมาะสม รู้จักเก็บออมทีละเล็กทีละน้อยเพื่อลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ๆ ก่อน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่แล้วล่ะ

ทางเลือกของการลงทุนในตลาดทุนมีอยู่ 3 ตัว ได้แก่ ตราสารหนี้ กองทุนรวม และหุ้นสามัญ

ตราสารหนี้ คือ หลักทรัพย์ที่แสดงสิทธิความเป็น เจ้าหนี้ของกิจการ ผู้ซื้อรับบทเป็นเจ้าหนี้ ส่วนผู้ออกรับบทเป็นลูกหนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล (ออกโดยรัฐบาล) และหุ้นกู้ (ออกโดยเอกชน) โดยตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ซื้อจะได้รับดอกเบี้ยตรงเวลา สามารถนำดอกเบี้ยไปลงทุนต่อได้ แต่ความเสี่ยงคือการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อาจจะได้ดอกเบี้ยลดลง รวมถึงการผิดชำระหนี้ทำให้ผู้ซื้ออาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งนี้ ผู้ซื้อต้องดู Credit Rating ของผู้ออกตราสารหนี้ว่ามีระดับความน่าเชื่อถือที่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหน

กองทุนรวม คือ กองทุนที่รวบรวมเงินของนักลงทุนมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นกำหนดไว้ ข้อได้เปรียบคือมีผู้จัดการกองทุนที่ช่วยบริการการเงินในกองทุนเพื่อให้เงินในกองทุนเติบโต การลงทุนนี้มีเงินไม่มากก็สามารถร่วมลงทุนได้ อาจเป็นทางเลือกสำหรับมือใหม่ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญจัดการเงินและเลือกที่จะใช้เงินน้อย ๆ ไปลองลงทุนดูก่อน แต่ความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมคือจะไม่ได้รับประกันผลตอบแทนที่ได้รับ เนื่องจากกำไร/ขาดทุนที่ได้รับขึ้นอยู่กับการขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้ต้องศึกษานโยบายลงทุนและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

หุ้นสามัญ คือ หลักทรัพย์ที่แสดงความเป็น เจ้าของ ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องการระดมเงินทุน ประโยชน์ของการลงทุนกับหุ้นสามัญคือเราสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้แม้ไม่ต้องลงมือเอง ได้รับเงินปันผลจากส่วนแบ่งของกำไรและราคาหุ้นเติบโตพร้อมกิจการ แต่ความเสี่ยงคือผลตอบแทนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ากิจการที่ร่วมลงทุนไปนั้นจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน ทว่าหุ้นสามัญเป็นการลงทุนที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป แม้สิ่งของเรียบง่ายอย่างอาหารเมนูกะเพราไก่ไข่ดาว ส่วนผสมต่าง ๆ ที่นำมาทำเป็นเมนูนี้มีหุ้นแทรกอยู่ทั้งสิ้น เช่น เนื้อไก่และไข่ดาว มีหุ้นของ CPF, GFPT และ TGF ข้าว มีหุ้นของ KASET และ PRG หรือ น้ำมัน มีหุ้นของ CPI, TVO, AIE, UVAN และ LST เป็นต้น

ในส่วนของการหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้ที่ SET Thailand นอกจากจะมีข้อมูลการซื้อหุ้นที่เว็บไซต์แล้วยังมีการให้ความรู้แบบเรียบง่ายผ่านพิพิธภัณฑ์น่ารัก ๆ มีตัวละครเล่าเรื่องและข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ศึกษาได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย

---

ที่มา

SET Investory Mobile 2023

---

About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy