เป็น 'เภสัช' ไม่ใช่แค่หยิบยาให้แล้วจบ
เวลาไปโรงพยาบาลแล้วแพทย์สั่งยาให้เรานำใบไปส่งที่ห้องรับยา เพื่อจะได้นำยาเหล่านั้นมารักษาอาการเจ็บป่วย บุคคลที่เราจะต้องพูดคุยด้วยในห้องจ่ายยาก็คือ 'เภสัชกร' หรือการซื้อยาตามร้านขายยา ผู้ที่ใส่เสื้อกาวน์ ใส่เสื้อคลีนิก โดยมีชื่อเภสัชปักไว้บนเสื้ออยู่ นั่นก็คือ 'เภสัชกร' เช่นเดียวกัน
อาจจะดูเหมือนง่ายที่ว่าเป็นถึงเภสัช ทำไมทำแค่หยิบยาให้แล้วจบ แต่ความจริงแล้ว หน้าที่ของเภสัชมีมากกว่านั้น
ในกรณีของร้านขายยา เภสัชต้องรู้ทันเหล่านักเสพนักเติมทั้งหลายที่หาโอกาสซื้อยาเพื่อไปผสมเองแล้วกลายเป็นสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา อีกทั้งยังต้องซักถามอาการของคนไข้ว่ามีอาการเจ็บป่วยตรงไหนบ้าง มีความรู้ในการประเมินและเลือกยาเพื่อให้เหมาะสมโดยไม่เกิดผลเสียกับร่างกายคนไข้ การให้ยาและประเมินอาการของคนไข้ไม่ต่างจากแพทย์ที่เจอในโรงพยาบาลเลย ส่วนในกรณีของห้องจ่ายยาในโรงพยาบาล แม้เภสัชจะมีหน้าที่หยิบยาตามคำสั่งของแพทย์ตามใบสั่งยา แต่ถ้าเจอยาบางตัวที่อาจไม่เหมาะสม หรือมียาตัวไหนที่ดีกว่าตัวที่แพทย์สั่ง อาจมีการประเมินอาการรักษาและให้ยาร่วมกับแพทย์เจ้าของคนไข้ด้วย
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเภสัช ใครก็ไม่สามารถเข้ามาทำแทนได้นะ~
นอกจากการจ่ายยาแล้ว อีกสาขาหนึ่งของเภสัชที่สามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจของตนเองก็เป็นด้านอุตสาหกรรมยา โดยเภสัชสาขานี้ จะอยู่ในโรงงาน เป็นผู้ผลิตยาตัวใหม่ ๆ ออกมาเพื่อรักษาโรค เพราะเชื้อโรคสามารถพัฒนาตนเองให้ต่อสู้กับยาได้เรื่อย ๆ เรียกง่าย ๆ ว่าหากเกิดการดื้อยาขึ้น จำเป็นที่ต้องคิดค้นยาตัวใหม่มาเอาชนะเชื้อนั้น การทำงานของเภสัชสายนี้ไม่จำเป็นต้องคุยกับคนไข้ ทำแต่งานวิจัยและเปเปอร์เพื่อทำยาส่งออกสู่ตลาดเท่านั้น จึงค่อนข้างจะต่างจากสาขาบริบาลที่ต้องอยู่ระหว่างโรงพยาบาลหรือคลีนิคข้างนอก และมักจะต้องใช้ทักษะการพูดคุยเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือจะต้องรู้ทันเหล่านักเสพนักเติมทั้งหลายอย่างที่กล่าวไปตอนต้นบทความด้วย
ระยะเวลาการเรียนเภสัชศาสตร์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปีไม่ต่างจากแพทยศาสตร์เลย โดยเน้นเรียนไปทางด้านเคมีและเกี่ยวกับตัวยาโดยเฉพาะ มีสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสองสาขาคือ สาขาบริบาลต้องมีการเรียนเกี่ยวกับใบสั่งยาและการพูดคุยกับคนไข้ ส่วนสาขาอุตสาหกรรม จะเรียนเน้นไปทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับยาโดยเฉพาะ
เงินเดือนของเภสัชกรมักเริ่มต้นที่ 15,000 บาทตามเรทปกติของปริญญาทั่วไป ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าอยู่เวร หากเลือกไปทำสาขาบริบาลตามโรงพยาบาลด้วยก็จะได้เพิ่มมากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่ตามที่รุ่นพี่แนะนำกัน หากมีโอกาสได้เปิดร้านขายยาเอง ก็สามารถมีเงินเดือนได้นับแสนบาทเลยทีเดียว และยังมีสาขาอุตสาหกรรม หากได้เป็นผู้แทนยาหรือดีเทลยาก็จะได้เงินเดือนที่สูงกว่าหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะสาขาไหนของเภสัชศาสตร์ ควรเลือกตามความถนัดและความชอบมากที่สุดอยู่ดี หากชอบที่จะได้คุยกับคนไข้ก็ไปสาขาบริบาลได้ แต่ต้องยอมรับว่าเงินเดือนที่ได้อาจจะลดหลั่นลงมา หรือถ้าชอบทำงานในห้องแลป ก็เลือกสาขาอุตสาหกรรม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หน้าที่ของเภสัช ไม่ใช่แค่หยิบยาให้แล้วจบตามที่เข้าใจกันนะ
---
ที่มา
SmartMathPro: เภสัชศาสตร์เรียนกี่ปี เรียนอะไรบ้าง รวมทุกคำถามของคณะเภสัช !
มหาวิยาลัยเวสเทิร์น: เภสัชศาสตร์ เรียนจบแล้วสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง แล้วแต่ละอาชีพได้ค่าตอบแทนเท่าไร
TikTok: @chompoonedd
---
About the author: ฬ. Jula