อาการติดจอหนัก เสี่ยง Computer Vision Syndrome
เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์แทบจะกลายเป็นอวัยวะสำคัญที่ 33 ของร่างกาย หากให้เลือกว่าจะนำสิ่งของชิ้นใดชิ้นหนึ่งติดไป คงหนีไม่พ้น เอ่ยเรียกโทรศัพท์ออกมาก่อนเป็นอันดับแรก
จะสังเกตได้ว่าคนส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปกับโทรศัพท์นานหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเวลาว่างเพื่อรอรถประจำทาง หรือขณะนั่งอยู่เฉย ๆ ในที่สาธารณะ ก็จำเป็นต้องหยิบเจ้าเครื่องมือสื่อสารออกมาเล่นฆ่าเวลาเสียทุกครั้ง จนกลายเป็นภาพคุ้นชินที่ผู้คนมักจะก้มหน้าอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ของพวกเขาเอง โดยไม่ได้สนใจโลกภายนอก จนถูกเรียกด้วยคำสั้น ๆ ที่เข้าใจง่ายว่า สังคมก้มหน้า
นอกจากการติดจอโทรศัพท์ โดยต้องหยิบขึ้นมาไถไปพลาง ๆ แม้ว่าเนื้อหาในนั้นไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากมาย เหล่าพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเพื่อทำงานของตนเองก็เสี่ยงเป็น Computer Vision Syndrome เช่นกัน
Computer Vision Syndrome คือ อาการตาล้า มีสาเหตุมาจากการจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลาติดต่อกัน นาน 3 ชั่วโมงขึ้นไป กลุ่มอาชีพที่เสี่ยงที่สุดคือพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งอาการนี้ แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็นทางตรงที่จะเสี่ยงให้ตาบอด แต่ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายด้านอื่น ๆ ในทางอ้อม เช่น การปวดตา อาการเมื่อยล้าบริเวณต้นคอเนื่องจากวางโทรศัพท์ในระดับที่ไม่ถูกต้อง หรืออาการปวดศีรษะเพราะรู้สึกจ้องสิ่ง ๆ หนึ่งบนหน้าจอที่เคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลา
อย่างที่รู้กันดีว่า แสงจากหน้าจอดิจิทัลทั้งหลายล้วนเป็นแสงสีฟ้า ซึ่งแสงนั้นมีผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง ปกติแล้วสายตามนุษย์มักกะพริบตาเฉลี่ย 17 ครั้งต่อนาที ทว่าเมื่อสังเกตจากคนที่ติดโทรศัพท์หนักหรือต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน พวกเขาจะกะพริบตาโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 6 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น
ความสำคัญของการกะพริบตาคือ การให้น้ำตาไหลออกมาหล่อเลี้ยงดวงตาและไม่ปล่อยให้ตาแห้ง เมื่อเกิดการตาแห้งก็จะรู้สึกระคายเคืองดวงตาจนต้องขยี้ตา ซึ่งอาจเสี่ยงติดเชื้อในภายหลัง ร้ายแรงที่สุดอาจส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นได้เลย
วิธีการหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอาการตาล้า หรือ Computer Vision Syndrome คือการจ้องหน้าจอให้น้อยลง แต่สำหรับพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์อาจจะยากในการเลี่ยงได้ แนะนำให้พักสายตาตามกฎ 20-20-20 มีการพักสายตาเมื่อทำงานไป 20 นาที โดยมองออกไปไกล ๆ สัก 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) หรือหลับตาสัก 20 วินาที
นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการทำงาน ไม่ควรปรับหน้าจอให้สว่างหรือมืดเกินไป ป้องกันอาการเพ่งจอโดยไม่รู้ตัว ปรับระดับหน้าจอให้อยู่แนวเดียวกับสายตา ไม่ต้องก้มหรือเงยเกินพอดี และเปิดไฟให้สว่างเพียงพอต่อความสามารถในการมองเห็น เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาล้าจนส่งผลกระทบต่อร่างกายได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคสมัยนี้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมองเห็นแสงสีฟ้าจากหน้าจอดิจิทัลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งป้ายโฆษณาต่าง ๆ ในเมือง และแสงไฟหลากสีที่กระทบดวงตา อีกทั้งยังจ้องจอโทรศัพท์ในที่มืดเป็นประจำอีก แต่เราสามารถเริ่มดูแลดวงตาได้ตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากการพักจากหน้าจอเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้นก็ได้ เพื่อสุขภาพตาและร่างกายของตนเองในระยะยาว
---
ที่มา
สาระผู้ป่วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี: เล่นมือถือนาน ๆ ทำให้ตาบอดได้จริงหรือ?
PPTV36: โรคฮิตคนติดจอ! ยิ่งใช้สายตาหน้าจอมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการมองเห็น
---
About the author: ฬ. Jula