แชร์

ปล่อยวางความเครียด ให้ดนตรีบำบัดจิตใจเรา

อัพเดทล่าสุด: 19 ก.ค. 2024
316 ผู้เข้าชม

หลังจากผ่านความเคร่งเครียดและความเหนื่อยล้าจากการใช้ชีวิตมาทั้งวัน ในขณะที่กำลังเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อน หลายคนคงเลือกเปิดฟังวิทยุหรือเปิดเพลงจาก Playlist ที่ชอบฟังระหว่างทางกลับบ้านท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดนตรีหรือเสียงเพลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของเราเป็นอย่างมาก ดนตรีไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ของคนเราเท่านั้น แต่ดนตรียังเป็นสิ่งที่ช่วยบำบัดจิตใจ ผ่อนคลายความเครียด และเยียวยาความเหนื่อยล้าในแต่ละวันให้ดีขึ้น


ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้องค์ประกอบทางดนตรี เช่น เนื้อเพลง ท่วงทำนอง และจังหวะ มาใช้ฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น 


ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (สหสาขาวิชา/หลักสูตรนานาชาติ) 

ได้ให้ข้อมูลว่า หลักการของดนตรีบำบัดโดยทั่วไปคือ การใช้ดนตรีและกระบวนการของดนตรีมาเป็นเครื่องมือให้เกิดการผ่อนคลายในสภาพที่ไม่ปกติในลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์

ดนตรีทำให้เกิดการผ่อนคลายหรือลดอาการที่ผิดปกติ เช่น ความผิดปกติทางด้านร่างกาย ความเจ็บปวด ถ้าเป็นจิตใจก็เป็นความกังวล อารมณ์ความรู้สึกในการเข้าสังคมต่าง ๆ มีข้อพิสูจน์ด้วยงานวิจัยทางตะวันตกว่า ดนตรีมีผลในการที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ดีต่อผู้ที่นำเอาไปใช้


ดนตรีที่เหมาะสำหรับการฟังเพื่อบำบัดผ่อนคลาย ควรมีจังหวะหรือบีทประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที ซึ่งใกล้เคียงกับจังหวะการเต้นของหัวใจ จะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ทำให้สดชื่น ตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพดี มีความสุข ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานตามปกติ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง เป็นเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง มีเสียงธรรมชาติ จังหวะช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ระดับเสียงปานกลาง-ต่ำ ความเข้มของเสียงไม่ดังมากตามความรู้สึกของผู้ฟัง บรรเลงด้วยเครื่องดนตรี เช่น พิณ เปียโน กีตาร์ หรือวงออร์เคสตร้า เพลงในแนวทางแจ๊สแบบช้า ป๊อป คลาสสิค ฯลฯ เป็นดนตรีที่คุ้นเคยและสอดคล้องกับความชอบ 


ประเภทของดนตรีบำบัด แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 

ดนตรีบำบัดด้านกายภาพ คือ การตอบสนองของร่างกายต่อดนตรีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี หรือเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี ล้วนเป็นเป็นการตอบสนองของร่างกายที่ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกกระตุ้น เช่น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ทำให้มีการสูบฉีดเลือดดีขึ้น ดังนั้นดนตรีบำบัดจึงสามารถช่วยฟื้นฟูอาการของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

ดนตรีบำบัดด้านจิตใจ โดยทั่วไปแล้วดนตรีบำบัดจะทำให้สภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น เพราะการฟังดนตรีบำบัดเป็นการเปลี่ยนจุดสนใจของผู้เข้ารับการบำบัดให้มีสมาธิอยู่กับตนเอง อีกทั้งเสียงของดนตรีจะทำให้คลื่นสมองเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเช่นเดียวกับจังหวะดนตรี ถ้าหากดนตรีบำบัดสามารถทำให้เกิดคลื่นสมองที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายในระดับลึกได้ จะมีประสิทธิภาพราวกับการทำสมาธิ ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูโรคสมาธิสั้น (ADHD) ได้ และดนตรีบำบัดยังสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองให้หลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายและมีความสุข จึงช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียด รวมถึงอาการคลื่นไส้ได้ด้วย


ประโยชน์ของดนตรีบำบัด

ด้านจิตใจและอารมณ์ ดนตรีบำบัดทำให้ปลดปล่อยความรู้สึกแย่ ๆ ในใจออกมา ทำให้อารมณ์ดีขึ้น จัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีขึ้น
ด้านกายภาพ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายหลังถูกกระตุ้น ประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้น อาการเจ็บป่วยจะบรรเทาลง
ด้านสังคม ดนตรีเป็นสิ่งที่สามารถรวมผู้คนที่ชื่นชอบในดนตรีประเภทเดียวกัน ให้มาอยู่ในสังคมเดียวกันได้ ตัวอย่างเช่น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนใกล้ชิด และช่วยให้เด็กออทิสติกมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น

ดนตรีบำบัดไม่ได้มีไว้ใช้แค่กับผู้ป่วยเท่านั้น คนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการบำบัดด้วยดนตรีบำบัดได้ สำหรับใครที่สนใจอยากลองใช้ดนตรีบำบัดในการฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น สามารถปรึกษากับผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการใช้ดนตรีบำบัดที่เหมาะสม

--

ที่มา: 

ThaiHealth Resource Center: ดนตรีบำบัด: เครื่องมือทรงพลังเชิงบวก ช่วยรักษาอาการป่วยทางกายและจิตใจ
Medpark Hospital: ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

About the author: Mantana


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy