การสปอยล์ภาพยนตร์ ผิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ?
เวลาที่เราไปดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์แต่ละครั้ง เราก็มักจะถ่ายภาพ หรือวิดีโอลงโซเชียลมิเดียเพื่อแชร์ให้คนอื่นรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ วันนี้มาดูภาพยนตร์เรื่องอะไร แต่ใครจะรู้บ้างว่าต้องถ่าย หรือทำคอนเทนต์อย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์
การทำคอนเทนต์สปอยล์ภาพยนตร์ รวมถึงการถ่ายภาพ วิดีโอ ถ่ายเครดิตในโรงภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังมีหลายคนเข้าใจผิด และมีข้อถกเถียงอยู่เรื่อย ๆ ว่าสามารถทำได้ไหม มีความผิดเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ และการสปอยล์ภาพยนตร์ทุกรูปแบบถือว่าผิดกฎหมายหมดเลยหรือไม่ ? เราเลยจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นกัน
เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์
1. ความเข้าใจผิดจากนโยบายของ Platform ออนไลน์ เช่น YouTube กำหนดให้สามารถนำภาพ เสียง วิดีโอของผู้อื่นมาใช้ได้ไม่เกิน 10-15 วินาที คนเลยมักเข้าใจผิดว่า ถ้าทำตามนี้แล้วจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการอ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ คนมักเข้าใจผิดว่าการใส่อ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือระบุไว้ว่าขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำการขออนุญาตจริง จะถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ซึ่งสองเรื่องนี้เองที่มักจะทำให้หลายคนเกิดความเข้าใจผิด จนเกิดเป็นคอนเทนต์การสปอยล์ภาพยนตร์ที่มีให้เห็นได้ทั่วไป
สปอยล์แบบไหนถึงผิดลิขสิทธิ์ ?
ในปัจจุบันมีการสปอยล์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำคลิปมาตัดต่อสลับกับสิ่งที่ตนเองเล่า หรือนำคำพูดสำคัญในภาพยนตร์มาเล่าเนื้อหาประกอบ ซึ่งการสปอยล์ภาพยนตร์ในแต่ละรูปแบบอาจมีผลทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน บางกรณีอาจจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ บางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์ หรือบางกรณีอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์แต่เข้าข้อยกเว้น ดังนั้นการจะบอกว่าการสปอยล์ภาพยนตร์แบบไหนผิดกฎหมายจึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ลำดับการพิจารณาตามกฎหมายลิขสิทธิ์
1. พิจารณาลักษณะของการสปอยล์ เช่น เป็นการสปอยล์แค่เล่าตอนจบภาพยนตร์ หรือมีการนำวิดีโอของภาพยนตร์บางส่วนมาประกอบการสปอยล์ด้วย
2. พิจารณาว่าการสปอยล์ภาพยนตร์เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่
3. พิจารณาว่าเป็น งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ที่เป็นการนำเนื้อหาต่าง ๆ มาเรียบเรียงใหม่หรือไม่
4. พิจารณาว่าการกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมหรือไม่
ข้อยกเว้นตามกฎหมาย
มีข้อยกเว้นกำหนดไว้ว่า อนุญาตให้ใช้งานที่คนอื่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ โดยไม่ถือเป็นการละเมิด เช่น การติชม วิจารณ์ หรือการนำไปใช้เพื่อวิจัยหรือศึกษา เป็นต้น แต่ข้อยกเว้นนั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักการ 2 ประการ คือ ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และต้องไม่กระทบถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกับหลักการทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
1) วัตถุประสงค์และการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ทำเพื่อการค้าและหากำไร
2) ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ หากเป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เช่น ภาพยนตร์ โอกาสที่จะไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรมก็จะสูง
3) ปริมาณและเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ถูกนำมาใช้ ถ้านำมาใช้น้อยแต่เป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของงาน ก็จะไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้งานที่เป็นธรรม
4) ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงาน
ดังนั้นถ้าใครอยากจะนำผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาใช้ การขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน หรือสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมาใหม่เอง ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายค่ะ
--
ที่มา:
ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 28 : การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยการสปอยล์ (Spoil) - Faculty of Law | Thammasat University
About the author: Mantana