ทำไมอัตราการเกิดจึงลดลง? วิกฤติเด็กเกิดน้อย เหตุผลที่คนยุคใหม่ไม่นิยมมีลูก
ปัจจุบันมีรายงานออกมาอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และเนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดชะลอการมีบุตร และอาจเกิดการขาดแคลนแรงงานในอนาคต!
สาเหตุของวิกฤติเด็กเกิดน้อย?
สืบเนื่องมาจากแคมเปญ IWD 2023 ได้เผยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าวัยทำงานในกลุ่มGen Yที่เกิดในช่วงปีพ.ศ. 2523 - 2543หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง22 - 42ปี มีค่านิยมในการใช้ชีวิตคู่ที่เปลี่ยนไป กลุ่มGen Yมุ่งทำงานให้ประสบความสำเร็จ ครองตนเป็นโสด ไม่สมรสและไม่มีลูก มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 - 2564
นอกจากนี้พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้อธิบายว่าเหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเนื่องมาจากการเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้น ความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง อีกทั้งความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง โดยพ่อแม่หลายคนคาดหวังว่าถ้าจะต้องเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม เลยตั้งมาตรฐานความพร้อมไว้สูง กว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไปและความเครียดความจริงจัง ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย
· สรุปได้ว่า
ปัจจุบันคนยุคใหม่นิยมครองตัวเป็นโสด ไม่สมรส ไม่มีลูก
ผู้หญิงยุคใหม่เข้าถึงการศึกษาที่มากขึ้นทำให้ความสามารถวางแผนการมีครอบครัวดีขึ้น จึงอาจชะลอการมีบุตรออกไป
คนยุคใหม่มองว่าการอยู่ในบทบาทพ่อแม่จะต้องมีความพร้อม จึงรอจนเวลาที่ทั้งคู่พร้อมจริงๆ
ความเครียดส่งผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์
ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยลง
ผลกระทบจาก Covid-19
· แนวทางแก้ไขปัญหา?
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เสนอทางออกแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยด้วยการให้รัฐบาลประกาศนโยบายประชากร รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน เป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผนและมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าบริการได้เร็วขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนมาตรการหลัก 4 เรื่อง คือ เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี
ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ในเวลากลางวันที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น
ดร.สมชัย แนะว่าประเทศไทยต้องมีงบประมาณที่เพียงพอในการดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคน ควรมีการขยายเงินอุดหนุนเด็กเกิดใหม่ตั้งแต่ในครรภ์ของแม่ เพราะให้เงินอุดหนุนบุตรในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ เนื่องจากแม่หลายคนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูลูกให้ได้ ควรมีการขยายความคุ้มครองในการดูแลเด็ก แม่ และครอบครัว
ภาครัฐ หรือสังคมโดยรวม ต้องหางบประมาณ หรือทรัพยากรในการดูแลเด็กอย่างเต็มที่ การแก้ปัญหา เด็กเกิดใหม่น้อย ต้องร่วมมือกัน หลายภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน
_ _ _ _ _ _ _ _ _
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
ทำไม"ผู้หญิงโสด"มากขึ้น การแต่งงานไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบของชีวิต
About the author : ( น้องจีน )