อาชีพ 'พิสูจน์อักษร' กับ Work-life Balance ที่หายไป
ในมุมมองคนนอก เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายและน่าจะเอนจอย หากได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ คิดว่าคงไม่ต้องมีความละเอียดหรือมีความรู้มากมายนักเพราะคนไทยทุกคนย่อมใช้ภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน ทว่าหนึ่งในอาชีพที่ต้องใช้ภาษาเป็นงานหากินแบบเดือนชนเดือน แถมยังสร้างความเครียดและกดดันให้กับจิตใจและร่างกาย อย่างอาชีพ "พิสูจน์อักษร" นั้น ส่วนใหญ่แล้วอาจตะโกนร่ำร้องกันว่า "หนีไปปปปปปปปปปป!"
อาชีพพิสูจน์อักษร (Proofreader) เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและแก้ไขข้อความที่เขียนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ รายงาน เว็บไซต์ หรือเอกสารอื่น ๆ หน้าที่หลักของพิสูจน์อักษรคือการตรวจสอบความถูกต้องของการสะกดคำ ไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอน และรูปแบบการเขียน เพื่อให้ข้อความที่ได้รับการแก้ไขนั้นมีความถูกต้องและสวยงาม
การทำงานของนักพิสูจน์อักษรไม่เหมือนการได้อ่านนิยายที่ชื่นชอบ หรือแนวเรื่องที่ต้องการเสมอไป ดังนั้น ภาพในหัวที่คิดว่าเหล่านักพิสูจน์อักษรต้องเอนจอยทุกครั้งไปกับงานเขียนหลากหลายประเภท ย่อมไม่ใช่เรื่องจริงและค่อนข้างจะเป็นภาพที่เพ้อฝัน
หน้าที่หลัก ๆ ของอาชีพนี้คือการตรวจคำผิด ที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นจะอ่านไปเรื่อยเปื่อยเหมือนตอนอ่านนิยายย่อมไม่ใช่บทบาทสำคัญของอาชีพนี้ เวลานักอ่านทั่วไปอ่านนิยาย บางส่วนอาจอ่านแสกน พอได้พบเจอคำผิดบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือบางย่อหน้าของนิยายที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลือกที่จะอ่านข้าม ๆ ไปบ้างหากโดยรวมของเนื้อหามันสามารถสื่อสารเรื่องราวได้อยู่
แต่สำหรับนักพิสูจน์อักษรมันไม่ใช่แบบนั้น การอ่านของอาชีพนี้ต้องอ่านแบบ ละเอียด เน้นทุกคำที่ปรากฏขึ้นในบรรทัด ต้องดูการสะกดคำว่าถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษาหรือไม่ อีกทั้งเมื่ออ่านจบไปหนึ่งบท ก็ต้องมีการเชื่อมโยงโดยการดูแต่ละคำที่เอ่ยถึงในบทนั้น ๆ ด้วยว่าเป็นแบบเดียวกันไหม เช่น หากมีการใช้ชื่อคลองในบทแรก แต่กลับใช้คำว่าแม่น้ำในชื่อเดียวกับคลองในบทถัดไป อาจทำให้ผู้อ่านสับสนว่าระหว่างคลองหรือแม่น้ำที่เอ่ยถึงในเรื่องนั้นเป็นที่เดียวกันรึเปล่า หน้าที่ของนักพิสูจน์จึงต่างจากนักอ่านทั่วไปนั่นเอง
มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่า นักพิสูจน์อักษรไม่ได้เอนจอยไปกับงานทุกคน เรียกได้ว่า "อ่านจนเอียน ตรวจจนอ้วก" มีอยู่จริง
และที่สำคัญเลยคือ การทำงานของนักพิสูจน์อักษรต้องใช้ "สายตา" ในการตรวจเป็นหลัก มันคือการจ้องที่มากกว่าพนักงานออฟฟิศทั่วไป เวลาทำงานหรืออ่านบทความ ไม่ว่าจะด้วยหน้าจอโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์ เรายังสามารถพักสายตาหรือไม่จำเป็นต้องเพ่งมากขนาดนั้นได้ แต่ด้วยนักพิสูจน์อักษรคือความละเอียด ความทรมานจากงานของอาชีพนี้จึงสร้างผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจไม่น้อยเลย
ยิ่งคนที่ได้ทำอาชีพนี้ อยู่บริษัทที่มีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของงานเขียนดี ยิ่งต้องมีความละเอียดและทำงานแข่งกับเวลาได้ แม้ว่าการใช้ภาษาไทยจะเป็นภาษาหลัก แต่การต้องตรวจให้ตรงตามหลักไวยากรณ์ย่อมมีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องแก้เยอะอยู่ดี
อีกทั้งความกว้างขวางของภาษาไทย หากเป็นคนที่มีคลังคำศัพท์น้อย และประสบการณ์สะสมความรู้จากการอ่านยังไม่มากพอ อาชีพนี้คงอาจจะทำให้หมดไฟและเลิกอ่านหนังสือไปเลย ประกอบกับช่วงใกล้ ๆ กับงานหนังสือ หลายสำนักพิมพ์์ต้องเร่งออกหนังสือใหม่เยอะ ๆ เพื่อจะได้ขายออกมาได้ แต่นักพิสูจน์อักษรยังต้องการความละเอียดและถูกต้อง Work-life Balance ที่วาดฝันเอาไว้อาจไม่มีจริง การอ่านหนังสือเป็นตั้ง ๆ แล้วนั่งจิบกาแฟคงเป็นภาพฟุ้ง ๆ ในหัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอาชีพนี้จะทำงานหนักจนไม่เหลือคนทำงานเลย ไม่อย่างนั้น หนังสือที่อ่านอยู่ทุกวันนี้ก็คงหายไปจากชั้นวางขายหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า ก็ยังมีคนที่ชื่นชอบในการได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดและรักการทำงานนี้ ข้อดีของการอ่านหนังสือคือจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวไหน ทั้งสนุกหรือไม่สนุก แต่นับว่าเป็นความน่าตื่นเต้นอีกด้านหนึ่งของสายงานพิสูจน์อักษรทั้งสิ้น
---
About the author: ฬ. Jula