แชร์

'Common Sense (สามัญสำนึก)' ไม่สามารถสอนกันได้จริงหรือ?

อัพเดทล่าสุด: 9 ส.ค. 2024
221 ผู้เข้าชม

มีข้อถกเถียงมากมายทั้งในเชิงการศึกษา การพัฒนาบุคคล หรือการทำงานร่วมกัน ยามที่มีคลิปหรือเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ไวรัลขึ้นมา ซึ่งเกี่ยวกับบุคคลในคลิปแสดงการกระทำอย่างไร้ซึ่ง Common Sense หรือที่เรียกว่า สามัญสำนึก ว่าสิ่งนี้ แท้จริงแล้วมันสามารถสอนกันได้หรือไม่ หากสอนไม่ได้และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้น แล้วการใช้ชีวิตอย่างไม่มี common sense ของเขาอาจสร้างความเดือดร้อนและอาจเผลอละเมิดสิทธิของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวต่อไปเรื่อยใช่ไหม

แต่ก็มีข้อโต้แย้งกลับว่า common sense ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติอย่างสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดไม่มีจริง มันมาจากการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์จากสภาพแวดล้อมหรือผู้คนรอบตัวเขาคอยบอกต่างหาก

กรณีคลิปที่เด็กใช้พื้นที่ "ร้านหนังสือ" เป็นสถานที่ตั้งวง "กินข้าว" ร่วมกัน พร้อมกับมีการเซอไพรส์วันเกิดทั้งจุดเทียนและเป่าเค้ก หากเป็นบุคคลที่พอจะมีสิ่งที่เรียกว่า common sense คงจะตระหนักได้ว่าสถานที่ที่เป็นร้านหนังสือ มันไม่เหมาะสมสำหรับการนั่งเล่นหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากอ่านและเดินเลือกซื้อหนังสือเท่านั้น แต่เด็กกลุ่มนี้กลับกระทำโดยไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา

Common sense (สามัญสำนึก) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจและตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ เช่น การรู้ว่าน้ำร้อนสามารถทำให้เกิดแผลพุพองได้ หรือการรู้ว่าควรหยุดรถให้คนเดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย สามัญสำนึกมักถูกมองว่าเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตและการเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ การที่คนหนึ่งคนสามารถใช้สามัญสำนึกได้ดี มักเป็นผลจากการที่เขาได้ผ่านประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตมาแล้ว และได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ การมีสามัญสำนึกจึงมักเกิดขึ้นจากการเรียนรู้โดยตรงจากชีวิตจริง

คีย์สำคัญของความหมายสามัญสำนึกคือ การเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน ดังนั้น สามัญสำนึกไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว มันคือสิ่งที่ค่อย ๆ ประกอบสร้างจากการได้มองเห็น ได้สัมผัสกับตัวเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ กลายเป็นชุดความคิดหนึ่ง ๆ ของบุคคล โดยที่มาของชุดความคิดนั้นมาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งครอบครัวก็เป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดที่สุดต่อตัวเด็กเอง ผู้ที่จะสอนให้เด็กเติบโตเป็นคนมีสามัญสำนึกที่ดีได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง

สามัญสำนึกมีความเกี่ยวข้องกับ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น คนที่มี EQ สูงมักจะมีสามัญสำนึกที่ดี เพราะพวกเขาสามารถสังเกตและเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น ซึ่งช่วยในการตัดสินใจและการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล

อย่างไรก็ตาม เด็กที่เติบโตขึ้นมาได้จากการสั่งสอนของผู้ปกครองจะมีสามัญสำนึกเป็นอย่างไร นั่นก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองเองว่ามีประสบการณ์ส่วนตัวแบบไหนมาก่อน หรือได้เรียนรู้อะไรมาจากในอดีตบ้าง ถึงจะสามารถช่วยสอนให้เด็กในปกครองตนเองกลายเป็นผู้มีสามัญสำนึกที่ดีได้ อีกทั้งในแต่ละวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกัน อย่างของไทยเรามักให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้เท้า มองว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่ควรยกขึ้นมาวางบนที่สูง ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมโซนตะวันตกที่ไม่ได้คิดว่าเท้าคือของต่ำ มองเพียงเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น

ดังนั้นการจะตัดสินว่าคนผู้หนึ่งอาจมีหรือไม่มีสามัญสำนึกที่ดีเพียงเพราะเขาเอาเท้าวางบนที่สูงแทนที่จะให้อยู่ที่ต่ำตามสถานะของมันควรจะเป็น อาจไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสามัญสำนึกเฉพาะบุคคลนั่นเอง
---
About the author: ฬ. Jula


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy