ครุศาสตร์ฯ สจล. ชูธงสร้างบัณฑิตเป็นนวัตกรทางการศึกษา และแรงงานทักษะสูง
ครุศาสตร์ฯ สจล. ชูธงสร้างบัณฑิตเป็น "นวัตกรทางการศึกษา" และ "แรงงานทักษะสูง" ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน มุ่งหนุนวิจัยและนวัตกรรรม เข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 พร้อมเปิดตัวคณบดีใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ "ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน"
กรุงเทพฯ 13 สิงหาคม 2567 - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัว ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดีคนใหม่ "คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี" พร้อมวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนานำคณะมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ชูธงปั้นบัณฑิตคุณภาพให้เป็นมากกว่าครูผู้สอนแต่เป็น "นวัตกรทางการศึกษา" และ "แรงงานทักษะสูง" จ่อเปิดหลักสูตรใหม่ทั้งหลักสูตรไทย Dual Degree และหลักสูตรอินเตอร์ มุ่งขยายความร่วมมือในระดับนานาชาติหนุนสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ยุคอุตสาหกรรม 4.0
พร้อมโชว์ สแน็กจากปลีกล้วย นวัตกรรมอาหารต้นแบบ เอาใจคนรักสุขภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร และสนับสนุนการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
ศ.ดร.ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ความต้องการแรงงานคุณภาพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในฐานะสถาบันชั้นนำในการผลิตครู และบุคลากรคุณภาพ จึงมุ่งมั่นสร้าง "ครูผู้สอน" ที่ไม่ใช่แค่มีความรู้ลึกรู้จริงในสายอาชีพ แต่ยังเป็น "นวัตกรทางการศึกษา" ที่สามารถประดิษฐ์คิดค้น ออกแบบแนวคิด เทคนิค วิธีการ เครื่องมือ สื่อ หรือรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อดึงดูดความสนใจ และเพิ่มศักยภาพผู้เรียนได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปเป็น "แรงงานทักษะสูง" ที่ประกอบอาชีพได้หลากหลายสาขา
และตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
"โดยมากคนจะเข้าใจว่าเด็กที่จบครุศาสตร์ฯ ต้องไปเป็นครูอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะจากสถิติที่ผ่านมา เด็กที่จบไปส่วนใหญ่เป็นครูไม่ถึง 40% ที่เหลือจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักฝึกอบรม เป็นเทรนเนอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม ช่างชำนาญการ ฯลฯ อย่างเช่น เด็กที่จบหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมก็ไปทำงานที่บริษัทโทรคมนาคมเยอะมาก หรืออย่างจบครุศาสตร์เกษตรก็ไปอยู่บริษัทขนาดใหญ่ด้านอาหาร หรือถ้าใครจบ ครุฯ วิศวะฯ ครุฯ สถาปัตย์ฯ อยากต่อยอดไปในสายอาชีพนั้นๆ ก็สามารถทำได้เพราะวิชาส่วนใหญ่จะเรียนคล้ายกัน มีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเรียน วิศวะฯ หรือ สถาปัตย์ฯ จะเหมือนเรียนขาเดียว คือ เรียนวิชาชีพเฉพาะทางอย่างเดียว แต่ของครุศาสตร์เหมือนเรียนสองขา โดยมีทั้งการเรียนวิชาชีพเฉพาะทาง และจะเพิ่มทักษะวิชาชีพครูเข้าไปด้วย และที่สำคัญสาขาวิชาชีพอื่นมีฝึกงาน แต่ของครุศาสตร์จะมีทั้ง "ฝึกงาน" และ "ฝึกสอน" เรียนจบออกมาจะได้ใบประกอบวิชาชีพครู หรือหากอยากไปสายอาชีพเฉพาะทางอย่าง วิศวกร หรือ สถาปนิก ก็สามารถไปสอบใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางของสาขานั้นๆ ได้อีกด้วย" ศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าว
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ศ.ดร.ปริยาภรณ์ กล่าวว่า จะดำเนินการตามนโยบาย "SIET FIRST" ภายใต้วิสัยทัศน์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเทคโนโลยีมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางการปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ที่ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ได้แก่
- ระบบการทำงานต่างๆ ต้องดี ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารภายในแบบ Smart Organization ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบประกันคุณภาพตามเกณฑ์ของ EdPEx (Education Criteria for Performance Excellence) ฯลฯ
- หลักสูตรการเรียนการสอนต้องทันสมัย หลักสูตรต้องไม่ตายตัว สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปมีงานทำอย่างรวดเร็ว
- ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะกายภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ Smart Class Room E-Library พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning ห้อง Workshop ฯลฯ พร้อมอุปกรณ์ที่ครบครันทันสมัย มีระบบนิเวศการทำงานแบบ Data และ Technology Driven มีสภาพแวดล้อมและพื้นที่ที่เอื้อต่อ การพัฒนางานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ห้อง Maker Space ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทันสมัย อย่างเครื่องปริ้นสามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ และเครื่องมือช่างต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมก่อนพัฒนาเป็นผลงานจริง
"ในช่วงแรกนี้จะเร่งจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพครูหลักสูตรใหม่ ในสาขาวิชวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และศิลปะ โดยทำงานร่วมกับส่วนงานวิชาการต่างๆ ใน สจล. ปัจจุบันดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ 1 หลักสูตร คือหลักสูตร ค.อ.บ. วิทยาการจัดการเรียนรู้ มุ่งผลิตครูวิทยาศาสตร์ และ ครูคณิตศาสตร์ คาดว่าจะเปิดสอนได้ในปี พ.ศ. 2568 และในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดหลักสูตรเพิ่มเติม ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับนักเรียนที่จบ ปวส. และต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตร Pre Degree (Credit Bank) ร่วมกับ สพฐ. และ สอศ. รวมทั้งหลักสูตร Dual Degree และหลักสูตรนานาชาติ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับชาติและกองทุนต่างๆพร้อมยกระดับศูนย์นวัตกรรมและการบริการวิชาการของคณะ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของคณะครุศาสตร์ฯ
โดยวัตถุประสงค์หลักของการผลิตนวัตกรรม นอกจากจะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและสังคมส่วนรวมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะ เสริมทักษะในการสร้างนวัตกรรมทางอาชีพให้แก่นักศึกษา ในรูปแบบบูรณาการระหว่างการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัยเพื่อสำเร็จการศึกษา และการบริการวิชาการ ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการนี้ คือ การผลิตสแน็กจากปลีกล้วย
รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล.ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ได้เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่ามาจากความต้องการสร้างนวัตกรรมอาหารที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตและสนับสนุนการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาไม่สูง และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งยังต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปลีกล้วยจึงเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างตอบโจทย์
"สาเหตุที่เลือกปลีกล้วยเพราะปลีกล้วยเป็น by product จากการปลูกกล้วยที่จะถูกตัดทิ้ง เมื่อกล้วยให้ผลผลิต ทำให้มีปลีกล้วยเหลือเยอะ ราคาค่อนข้างถูก แต่ปลีกล้วยมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีนและไฟเบอร์ จึงมองว่าน่าจะนำไปต่อยอดได้ ประกอบกับอยากให้เด็กๆ ที่ไม่ชอบกินผักสามารถกินได้ด้วย จึงสนใจนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมกินเล่นที่กินได้เรื่อยๆ แต่มีประโยชน์มากกว่าขนมขบเคี้ยวทั่วไป และยังได้ผสมวัตถุดิบอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น ธัญพืช เม็ดมะม่วงหิมพานต์ Nutritional yeast พร้อมใช้แป้งมันฝรั่งหรือแป้งจากกล้วยดิบเป็นส่วนผสมสำหรับการขึ้นรูปเป็นแผ่น จัดเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเพื่อสุขภาพ (Health food) ไม่ใช้น้ำตาลในส่วนผสม ไม่ใช้วัตถุดิบจากสัตว์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมกินอาหารที่เป็น Plant base food โดยคุณค่าทางโภชนาการของสแน็กแผ่นจากปลีกล้วย 20 กรัม จะให้พลังงานเพียง 90 กิโลแคลอรี แต่โปรตีนสูงถึง 3.70 กรัม ไขมัน 3.90 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.90 กรัม และไฟเบอร์ถึง 4.20 กรัม จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี เหมาะสำหรับบริโภคทุกเพศทุกวัย"
รศ.ดร.ปิ่นมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสแน็กจากปลีกล้วยที่ทำขึ้นนี้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยังไม่มีการวางจำหน่าย ซึ่งหากนักศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มแม่บ้านใดสนใจสามารถนำไปต่อยอด และสร้างเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้ โดยสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง ภาควิชาครุศาสตร์เกษตร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สจล. โดยตรง ซึ่งอาจารย์จะช่วยออกแบบสูตรสแน็กให้เป็นสินค้าตัวใหม่ โดยพิจารณาจากวัตถุดิบที่มีในชุมชนและสามารถนำไปพัฒนาได้หลายรูปแบบและหลายรสชาติ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง ช่องทางการติดต่อของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี https://www.facebook.com/siet.kmitl และ https://siet.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อน ไหวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ทางเพจเฟซบุ๊ก สจล. https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000