T-Score ที่ใช้คำนวณทั้ง TCAS และสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา คืออะไรนะ? คำนวณอย่างไร?
น้องๆหลายคนที่กำลังอยู่ในการยื่นในระบบ #TCAS อาจจะเพิ่งเคยได้ยินแต่สำหรับน้องๆที่สอบสนาม #เตรียมอุดมฯ นั้นรู้จักมาหลายปีแล้วเนอะ จากที่เดิมทีน้องจะคุ้นชินกับการให้เกรดต่างๆ ผ่านเกณฑ์คะแนน เช่น น้องได้คะแนนเกิน 80 คะแนน ก็จะได้เกรด 4 แต่ในการสอบแข่งขันต่างๆ การประเมินผลโดยเกณฑ์คะแนนนั้นอาจจะไม่เหมาะสม จึงเกิดแนวคิดการประเมินผลโดยใช้การทำ Ranking ขึ้น เดิมทีก็มีสูตรคำนวณอื่นๆมาก่อนบ้าง แต่ท้ายสุดก็มาลงตัวที่ T-Score
.
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คำว่า "T-Score" อาจเป็นคำที่น้องเคยได้ยินบ่อย ๆ แต่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง บทความนี้พี่จะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับ T-Score ว่าคืออะไร วิธีการคำนวณ และสำคัญอย่างไรในการใช้ในระบบ TCAS และการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
T-Score คืออะไร?
T-Score หรือ คะแนนที เป็นรูปแบบการประเมินผลที่ใช้ในการเทียบคะแนนของนักเรียนกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบ โดยเปลี่ยนคะแนนดิบที่นักเรียนทำได้ให้กลายเป็นค่าคะแนนที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบคะแนนของนักเรียนได้อย่างเที่ยงตรงยิ่งขึ้น
T-Score "คะแนนที่มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 50 และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 10 และมีการแจกแจงคะแนนเป็นรูปโค้งปกติ ซึ่งเป็นคะแนนมาตรฐานที่แปลงมาจากคะแนนมาตรฐานซีเพื่อแก้จุดอ่อนบางประการของคะแนนมาตรฐานชี" อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนเข้าใจ แต่บางคนคงงงน่าดู สรุปง่ายๆเป็นคะแนนที่ถูกปรับคะแนนค่าเฉลี่ยให้มาอยู่ตรงกลาง 50 น้องคนไหที่ได้คะแนนมากกว่า 50 ก็จะได้คะแนน T-Score มากขึ้น ยิ่งห่าง ก็จะยิ่งได้คะแนนมากขึ้น ถึงระดับนึงก็อาจจะได้เต็ม 100 ไปเลยก็ได้
วิธีนี้จะช่วยให้น้อง ๆ เห็นภาพรวมว่า คะแนนที่ได้อยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับนักเรียนคนอื่น ๆ ที่สอบในชุดข้อสอบเดียวกัน ดังนั้น แม้ว่าคะแนนดิบของน้องจะไม่สูง แต่หากน้องทำได้ดีกว่าคนอื่น ๆ คะแนน T-Score ของน้องก็จะออกมาสูงได้เช่นกัน
สูตรการคำนวณ T-Score
การคำนวณ T-Score มีสูตรที่ใช้กันทั่วไป ดังนี้:
T-Score = [(X - X̄) ÷ S] × 10 + 50
X คือ คะแนนดิบของน้อง ๆ
X̄ (ค่าเฉลี่ย) คือ คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบทั้งหมด
S (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) คือ ตัววัดการกระจายของคะแนนกลุ่มผู้สอบ
สูตรนี้จะช่วยเปลี่ยนคะแนนดิบให้เป็นคะแนนมาตรฐาน โดย T-Score จะมีค่ากลางที่ 50 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเป็น 10 คะแนน ซึ่งหมายความว่าถ้าน้องได้ T-Score ที่มากกว่า 50 แปลว่าน้องทำคะแนนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบ
ตัวอย่าง:
ถ้าน้องได้คะแนนดิบ 80 คะแนน คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบคือ 70 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานคือ 5 คะแนน T-Score ของน้องจะเป็น [(80 - 70) ÷ 5] × 10 + 50 = 70
จากตัวอย่างนี้ น้องจะได้คะแนน T-Score ที่ 70 ซึ่งหมายถึงน้องทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบที่ทำได้ 70 คะแนน
การใช้ T-Score ในระบบ TCAS
สำหรับระบบ TCAS (Thai University Central Admission System) การใช้ T-Score มีความสำคัญในรอบการสอบที่เกี่ยวข้องกับการวัดผลคะแนน เช่น รอบสอบ TGAT/TPAT, A-Level ซึ่งคะแนนของน้องจะถูกแปลงเป็น T-Score เพื่อนำไปเทียบกับผู้สมัครสอบคนอื่น ๆ และใช้คัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงที่สุด
โดยหลักการคือ ถ้าผลคะแนนสอบ TGAT/TPAT หรือวิชาสามัญของน้องสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้สอบ น้องจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกสูงขึ้น T-Score จะช่วยให้การประเมินผลเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็นการปรับคะแนนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลการสอบของแต่ละคน
.
สูตรสำหรับ TGAT/TPAT 2 - 5 ไว้ คือ Ti = 50 + 7.87412(คะแนนที่ได้ - ค่าเฉลี่ย) /ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
.
ส่วน A-Level คือ Ti = 50 + 5.72973(คะแนนที่ได้ - ค่าเฉลี่ย) /ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การใช้ T-Score ในการสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา
สำหรับการสอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา การคำนวณ T-Score มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีการแข่งขันสูงมาก และการสอบเข้าก็เป็นเรื่องที่จริงจัง T-Score จึงถูกนำมาใช้ในการจัดอันดับนักเรียน โดยจะนำคะแนนดิบของนักเรียนแต่ละคนมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มนักเรียนที่สอบในรอบเดียวกัน
เนื่องจากการสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีการสอบหลายวิชา รวมถึงวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ คะแนนในแต่ละวิชาจะถูกคำนวณเป็น T-Score เพื่อให้คณะกรรมการได้เห็นภาพรวมของความสามารถของนักเรียน และตัดสินใจคัดเลือกจากคะแนน T-Score ของนักเรียนที่สูงที่สุด
ในส่วนของน้องๆกำลังเตรียมสอบเข้า #เตรียมอุดมฯ T-Score พี่ลองยกคำอธิบายเพื่อไม่ให้ต้องมาจดจ่อแล้วไปตั้งหลักเตรียมตัวสอบให้ได้มากที่สุดเนอะ T-score ของเราก็คือการคำนวณคะแนนจากค่าเบี่ยงเบนทางคณิตศาสตร์ โดยค่า T-score นี้จะมีทศนิยม 6 ตำแหน่ง เช่น ถ้าข้อนั้น ๆ มีคนตอบถูกเยอะ แต่น้องดันตอบผิด น้องก็จะได้คะแนนข้อนั้นน้อยลง แต่หากเราตอบถูกในข้อที่มีคนตอบผิดเยอะ น้องก็จะได้คะแนนในข้อนั้นเยอะขึ้นนั่นเอง ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาก็อาจจะต่างกันแค่หลักทศนิยมเท่านั้น ดังนั้นในทุกๆ ข้อ เราไปโฟกัสทำให้ถูกต้องมากที่สุดนั่นเอง
การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบที่ใช้ T-Score
ฝึกทำข้อสอบเก่า การฝึกทำข้อสอบเก่าจะช่วยให้น้องได้เข้าใจแนวทางข้อสอบและรู้ว่าเนื้อหาที่ต้องเตรียมตัวคืออะไร อีกทั้งยังช่วยให้น้องสามารถจัดการเวลากับข้อสอบได้ดีขึ้น
ทบทวนเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง การอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอและทบทวนเนื้อหาที่สำคัญจะช่วยให้น้องมีความพร้อมและมั่นใจในวันสอบ
จัดการความเครียด การสอบเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่น้องควรหาเวลาพักผ่อนและจัดการความเครียด เพื่อให้สมองพร้อมรับข้อมูลใหม่ ๆ และมีพลังในการทำข้อสอบ
การคำนวณ T-Score เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดผลการสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS หรือการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา การทำความเข้าใจสูตรการคำนวณและความสำคัญของ T-Score จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถวางแผนการเตรียมตัวได้ดีขึ้น พี่ขอแนะนำน้องให้เริ่มรวบรวมข้อมูลและฝึกทำข้อสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คะแนน T-Score ของน้องอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในการสอบแข่งขันที่มีการแข่งขันสูง สู้ๆนะทุกคน ไม่ว่าสนามไหนน้องวางกลยุทธในการเตรียมตัวสอบให้ดี พี่เชื่อว่าน้องทุกคนทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย The Study เป็นกำลังใจให้ทุกความฝันนะ