แชร์

วิกฤตไฟป่า ปอดประชาชนที่ภาครัฐเมินเฉย

อัพเดทล่าสุด: 11 ม.ค. 2025
23 ผู้เข้าชม
ไม่ว่าจะนับไปอีกกี่ปี คนไทยยังคงต้องสูดดมหมอกควันสีดำแบบนี้ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ปอดของประชาชนต้องรับอากาศพิษเหล่านั้นซ้ำทุก ๆ วัน นอกจากการป้องกันด้วยตัวเอง ทั้งซื้อเครื่องกรองอากาศไว้ใช้ สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น รวมถึงไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านตามคำแนะนำของรัฐบาลแล้วก็ตาม ทว่าปัญหาเหล่านี้กลับไม่เคยหมดไป ซ้ำร้ายยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
.
สาเหตุของฝุ่นควันเหล่านั้นมักมาจากการ เผาป่า ในฤดูแล้งใบไม้เริ่มแห้งกรอบยิ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะทำให้ไฟจุดติดและลุกท่วมได้ง่าย จากความเชื่อเดิมที่ว่าไฟป่าเกิดจากต้นไม้เสียดสีกันนั้นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้
.
กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีหรอกใบไม้เสียดสีกันแล้วมันเกิดไฟป่า ในประเทศไทย ไฟป่าเกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น
ในภาคเหนือของไทยที่มีพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2562 จุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประจำทุกปีนั้นมาจากการ เผาไร่ ของเหล่าเกษตรกร
.
แต่ก่อนจะโทษเกษตรกรที่อาจจะเป็นผู้ร้ายตัวจริงของเรื่องนี้ ขอย้อนความเดิมเมื่อสมัยปีพุทธศักดิราช 2530 ก่อน
ปีนั้น รัฐบาลต้องการที่จะให้ประเทศไทยส่งออกสินค้านอกเหนือจากข้าวและข้าวโพด โดยสนับสนุนให้ประชาชนทำปศุสัตว์ เมื่อมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น สิ่งที่ตามมาเลยคือ อาหารสัตว์ หากต้องการลดต้นทุนและเพิ่มความคุ้มค่า เกษตรกรที่ต้องการทำปศุสัตว์ จึงใช้ข้าวโพดที่ทั้งราคาถูก ปลูกง่ายมาเป็นอาหารในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐที่สร้างแรงจูงใจในการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารในการเลี้ยงสัตว์ด้วย ตั้งแต่นั้นมาจึงมีพื้นที่ทำไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นทุกปี
.
นอกจากนี้ เหล่าบริษัทที่ต้องการข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมของตนเอง ก็จะเข้ามาซื้อกับเกษตรกรและมีการทำสัญญาที่เรียกว่า เกษตรพันธสัญญา โดยทางบริษัทจะรับผลผลิตจากเกษตรกรมาเป็นวัตถุดิบ ส่วนเกษตรกรก็ต้องส่งผลผลิตให้กับบริษัทคู่สัญญาเพียงรายเดียว
มาถึงตรงนี้ ดูแล้วก็ไม่มีอะไรเสียหาย ฝ่ายบริษัทก็ได้ประโยชน์ ฝ่ายเกษตรกรก็มีรายได้มั่นคง ทว่าความเป็นจริงกลับเลวร้ายกว่านั้น เพราะการทำสัญญาระหว่างบริษัทกับชาวบ้าน บางทีก็ทำปากเปล่า บางทีก็ไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ ซ้ำร้ายความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากการเกษตร 'เกษตรกรมักแบกรับเต็ม ๆ'
.
ด้วยเหตุนี้ รายได้ที่ได้รับมักสวนทางกับต้นทุนที่ลงแรงไป อีกทั้งผลผลิตยังต้องส่งให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องในจำนวนที่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม การลดต้นทุนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยในฤดูการเก็บเกี่ยว การเผา จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของเกษตรกรที่ทั้งง่าย ไม่ต้องใช้เวลานานและให้ผลดีที่สุดแต่ดันส่งผลให้เกิดฝุ่นควันในปัจจุบันนี้นั่นเอง
.
ในเมื่อไม่สามารถยังยั้งการเผาได้ 100% เพราะตัวเกษตรกรนั้นถูกครอบด้วยกรงขังขนาดมหึมาอย่างเงิน เศรษฐกิจและปากท้อง กลไกการจัดการของภาครัฐจึงเป็นหนึ่งในทางเดียวที่จะสามารถช่วยทั้งเกษตรกร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า และธรรมชาติที่ถูกทำลายเท่านั้น
.
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้าม โดยปัญหาของฝุ่นควันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในฤดูกาลซ้ำ ๆ ช่วงเดือนเดิม ๆ แบบนี้ มักเกิดคำถามว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ไขอย่างจริงจังได้แล้วหรือเปล่า? เพราะฝุ่นมาหนึ่งครั้งก็แก้ไขเพียงครั้งนั้นครั้งเดียว เมื่อเข้าสู่ปีถัดไป ยังเกิดปัญหาซ้ำแบบเดิม
ทาง สภาลมหายใจเชียงใหม่ พยายามเสนอโมเดลเตรียมความพร้อมรับมือกับไฟป่า จัดตั้งองค์กรที่มีเจ้าหน้าที่สำหรับจัดการปัญหาโดยเฉพาะ สร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องฝุ่น PM2.5 และปรับเปลี่ยนวิธีเดิมที่ทำให้การเผาเป็นศูนย์ กลายเป็นสามารถเผาได้ในพื้นที่ที่จำกัด เมื่อทุกอย่างได้รับการควบคุมให้เป็นระบบ ปัญหาการเผาป่าจะลดลง
.
อย่างไรก็ตาม นอกจากวิธีรับมือของรัฐบาลกับปัญหาไฟป่าต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอแล้ว กระบวนการสื่อสารกับประชาชนควรเป็นไปอย่างเหมาะสมด้วย จากกรณีของนายกรัฐมนตรีออกไปปั่นจักรยานที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะฝุ่นควันกำลังรุนแรงนั้น เกิดคำถามมากมายว่าสมควรแล้วหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ฝุ่นควันเหล่านั้นส่งผลเสียต่อร่างกายจริง ๆ แต่กลับกระทำราวกับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อีกทั้งในกรณีการใช้ Private Jet ของพรรครัฐบาล จากสถิติแล้วการใช้ไพรเวทเจ็ทเพียงหนึ่งชั่วโมง อัตราการปล่อย PM2.5 เทียบเท่ากับการใช้รถยนต์ทั้งปีด้วยซ้ำ
.
ขณะที่ประชาชนกำลังตระหนักรู้ พยายามลดการใช้สิ่งซึ่งเป็นตัวปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 เพื่อนำอากาศที่บริสุทธิ์กลับมาและปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นรุนแรงก็เป็นทีมอาสาร่วมกันดับไฟกับเจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ทว่าฝ่ายรัฐบาลกลับเมินเฉยสุขภาพของประชาชน ไม่มีสวัสดิการใด ๆ มารองรับเพื่อช่วยเหลือเลยแม้แต่นิดเดียว
.
ที่มา
TODAY วิกฤตไฟป่า สะท้อนกลไกรัฐ ไม่สนใจสุขภาพคนไทยฝุ่นควันปกคลุมชีวิต
PUD (พูด) ปัญหาเผาไร่ และฝุ่น PM 2.5: ความผิดเกษตรกรจริงรึเปล่า?
Spring News ไฟป่าเมืองไทยเกิดขึ้นจากอะไร? ธรรมชาติหรือคน | KEEP THE WORLD
-----
About the author: ฬ. Jula
 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy