กฎหมายสมรสเท่าเทียม ก้าวแรกของการเท่ากันทางเพศ
ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ประกาศให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีการใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
โดยที่ผ่านมาประเทศไทยของเรามีการรณรงค์เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันมาอย่างยาวนาน เพื่อประโยชน์แก่กลุ่มคนรักร่วมเพศหรือ LGBTQ+ ที่ถึงแม้จะมีการใช้พรบ.คู่ชีวิต แต่ตามจริงแล้วกฎหมายก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ตามความจริง เพราะหากไม่ใช่คู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนกันอย่างถูกต้อง ก็ไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการรัฐ การได้รับมรดกรวมถึงการตัดสินใจแทนในการแพทย์ได้
ทำให้หลาย ๆ คู่ต้องลำบากและเจอกับความไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย ยกตัวอย่าง หนังเรื่อง วิมานหนาม ที่นำประเด็นเรื่องการไม่ได้รับมรดกและการใช้สิทธิแสดงตนแทนทางการแพทย์ไม่ได้มาเล่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายและสมรสเท่าเทียมจำเป็นกับคนรักร่วมเพศขนาดไหน ถึงแม้จะเป็นแค่หนังแต่ใครหลายคู่ก็คงเคยประสบปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน
สิทธิที่ได้จากกฎหมายสมรสเท่าเทียม
- บุคคลทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- มีการแก้กฎหมายเปลี่ยนคำว่า ชาย-หญิง เป็น คู่สมรส และเปลี่ยนคำว่า บิดา-มารดา เป็น บุพการี
- สิทธิในการตัดสินใจแทนทางการแพทย์
- สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
- สิทธิประโยชน์และสวัสดิการแห่งรัฐในฐานะคู่สมรส
- สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน รวมถึงการรับมรดกจากคู่สมรสหากอีกฝ่ายเสียชีวิต
- ไม่จำกัดว่าฝ่ายชายต้องเป็นคนให้ของหมั้นและสินสอดฝ่ายเดียว
คุณสมบัติของผู้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
- บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
- กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
- ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
- หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
- คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
เอกสารที่ต้องเตรียม
- บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ
- หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล(กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
สถานที่จดทะเบียนสมรส
- สำนักงานเขต (ในกรุงเทพฯ)
- ที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด)
- สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
ค่าใช้จ่าย
- การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
- การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท
ดังนั้นการมีสมรสเท่าเทียมก็เหมือนเป็นการสร้างความเท่ากันให้แก่คนทุกเพศ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชายกับหญิงอีกต่อไป แต่มีการเข้าใจและยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนกฎหมายเดิมเพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แห่งความเท่าเทียมกันเพื่อให้ผู้คนทุกเพศ ทุกความหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
อ้างอิง :
บทความเหตุใดประเทศไทยจึงเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ มากกว่าชาติอื่นในเอเชีย ?
บทความสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทุกคนทุกเพศ LGBTQIA+ จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
บทความเตรียมตัวอย่างไรก่อน จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 22 ม.ค. 2568
About the author : KKwnc