'ท้องได้ก็เลี้ยงได้' ค่านิยมผิด ๆ กับการท้องไม่พร้อมในวัยเรียน
เรามักเกิดคำถามขึ้นมาทุกครั้งเวลาเล่น TikTok แล้วต้องเจอเด็กวัย 12-15 ปี หรือบางทีอาจมีอายุน้อยกว่านั้นที่ลงคลิปแสดงถึงความภาคภูมิใจว่าตนได้ "ตั้งครรภ์" ขึ้นมา พร้อมทั้งใส่แคปชันว่า "ท้องได้ก็เลี้ยงได้"
แน่นอนว่าคลิปเหล่านี้ย่อมต้องมีรถทัวร์มาจอดหน้าบ้าน แต่เป็นการทัวร์ลงด้วยความเป็นกังวลจากผู้ใหญ่ที่ต้องมาเห็นเด็ก ๆ ซึ่งร่างกายยังไม่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ต้องมามีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้อง หนำซ้ำทัศนคติและความพร้อมในการเป็นแม่ยังไม่สามารถมีได้ และคลิปแนว ๆ นี้เริ่มมีมากขึ้นทุกวันบนโลกออนไลน์ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
เมื่อมีการคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นด้วยความปรารถนาดีแล้ว แต่ตอบกลับด้วยความมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ภูมิใจยิ่งกว่าการท้องไม่พร้อมแล้วไปทำแท้งเสียอีก
จึงเกิดประเด็นที่น่าสนใจที่อยากจะตั้งคำถามต่อไปว่า สังคมสอนอะไรกับเด็กหรือให้เด็กได้เรียนรู้อะไรมากัน พวกเขาถึงคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันเหมาะสมแล้วจริง ๆ
คำว่า "ท้องได้ก็เลี้ยงได้" มาจากแนวคิดที่ว่า หากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ต้องเก็บเด็กในครรภ์เอาไว้จนกว่าจะคลอดออกมาเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข ต้องเลี้ยงในแบบที่สามารถส่งเสริมพัฒนาเจริญเติบโตในเด็กครบทุกด้านซึ่งต้องมีเงินก้อนเป็นจำนวนที่เหมาะสมด้วย
แต่นอกจากปัจจัยสำคัญอย่างเงินซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มแรกจนกว่าเด็กจะเติบโตมาเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการฝากครรภ์ ค่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพและทารกในครรภ์ ค่าทำคลอดเมื่อครบกำหนด 9 เดือน ค่าเลี้ยงดูช่วงแรกเกิด (อุปกรณ์สำหรับเด็ก) และค่าเล่าเรียนตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ก็ยังมีปัจจัยทางด้านร่างกายที่ควรจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มากกว่าอยู่ในวัยเด็กด้วย
ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กที่จะเกิดมาก็สำคัญสำหรับคนเป็นแม่ หากแม่ยังอยู่ในวัยเด็กที่อ่อนต่อโลก การมองเห็นโลกภายนอกยังไม่กว้างและมีมุมที่หลากหลายมากพออาจทำให้นำความคิดแบบผิด ๆ นั้นไปสอนลูกต่ออีกที บางกรณีของครอบครัวที่มีลูกในช่วยวัยผู้ใหญ่แล้วยังไม่สามารถสั่งสอนอบรมเด็ก ๆ ได้เหมาะสมเลย แล้วเด็กที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมเพียงเท่านั้นจะสามารถสั่งสอนลูกที่เกิดมาได้ยังไง?
ปัญหานี้ใช่ว่ารัฐบาลไม่พยายามจะแก้ไข เมื่อปี 2566 ได้ออกกฎกระทรวงโดยการกำหนดไม่ให้มีการย้ายหรือเชิญนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษานั้นออก เพื่อเป็นการเคารพสิทธิเด็กและไม่เป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาให้ยังสามารถได้รับความรู้ตามช่วงวัยที่เหมาะสม และเป็นการคงคุณภาพของประชากรในการมีลูกด้วยเพราะก่อนหน้านี้มีนักเรียนหญิงจำนวนมากที่เกิดการท้องไม่พร้อมและต้องย้ายออกจากสถานศึกษามากลางคัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับช่วงวัยเด็ก การเรียนรู้คือสิ่งสำคัญที่สุด ต่อให้ไม่รู้ว่าจะมีความรู้ไปใช้อะไรต่อไปในอนาตแต่อย่าเพิ่งมองข้ามการศึกษาเด็ดขาด อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่จะพาเราต่อยอดไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นโอกาสก้าวเล็ก ๆ ที่สามารถยกระดับชีวิตเราให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่าปิดกั้นอนาคตตัวเองเพื่อจะมาเลี้ยงลูกให้เติบโตมาในสังคมที่โหดร้ายเลย
---
ที่มา
มูลนิธิเด็กโสสะเด็กแห่งประเทศไทย: เลี้ยงลูก 1 คน ใช้เงินเท่าไหร่
RAMA Channel: ค่านิยมใหม่ "แม่วัยใส" ทัศนคติผิด ๆ ที่ต้องร่วมกันแก้ไข
BBC News: ส่องสถิติคุณแม่วัยใสน่ากังวลแค่ไหน ก่อนประกาศกฎใหม่ "เด็กท้องต้องได้เรียน"
---
About the author: ฬ. Jula