ภาวะ 'Passive Death Wish' ตายก็ได้ ไม่ตายก็ดี แต่ก็อยู่อย่างซอมบี้ไปวัน ๆ
ชั่วขณะหนึ่งยามที่เหนื่อยล้าและต้องเผชิญปัญหาเพื่อแก้ไขอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีเวลาหยุดพักผ่อน เสียงหนึ่งอาจดังก้องขึ้นในหัว "อยากให้รถชนตายไปซะ" หรือ "ถ้าลื่นล้มในห้องน้ำแล้วตายไปเลยไม่ต้องตื่นขึ้นมาอีกก็คงจะดี" หากคุณเคยมีความคิดแบบนี้ อาจกำลังตกอยู่ในภาวะ 'Passive Death With' อยู่ก็ได้
Passive Death Wish หมายถึง สภาพจิตใจที่บุคคลรู้สึกว่า หากตายก็ไม่เป็นไร แต่ก็ไม่มีความตั้งใจหรือพยายามที่จะทำให้ตัวเองตายจริง ๆ เป็นภาวะที่เกิดจากความรู้สึกว่า ชีวิตไม่มีความหมาย หรือไม่สามารถเห็นทางออกจากปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ บุคคลที่มีภาวะนี้มักจะมีอาการเบื่อหน่าย ไม่มีความกระตือรือร้น และรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน
เมื่อเทียบกับซอมบี้ที่มักจะเห็นอยู่ในหนัง พวกมันเป็นบุคคลที่ตายแล้วแต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถขยับร่างกายได้เพื่อหาเป้าหมายใหม่ ๆ และกินอาหารอย่างเนื้อมนุษย์เพื่อประทังความหิวโหยของตนเองได้ ทว่าสติสัมปชัญญะหรือสมองส่วนที่แสดงทั้งอารมณ์และคิดเชิงวิเคราะห์ล้วนตายไปหมดแล้ว การกระทำที่มีอยู่คงเหลือเพียงแต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดเท่านั้น คนที่ประสบกับภาวะ Passive Death Wish จึงมีสภาพไม่ต่างจากซอมบี้เหล่านั้นเท่าไหร่
และสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Passive Death Wish ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไร มันมาจากเจ้า 'ความเครียด' ตัวร้ายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่มีความกดดันสูง หรือไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า และหมดกำลังใจ ความรู้สึกอาจคล้ายคลึงกับการหมดไฟ เพียงแต่ผู้ประสบกับภาวะนี้จะมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายเพิ่มเข้ามา คืออยากตายหรือไม่ตายก็ได้ แต่ถ้าตายก็จะดี ถึงอย่างนั้นก็ไม่คิดจะทำร้ายตัวเอง เพียงแต่ต้องการให้การตายเป็นอุบัติเหตุและเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งแตกต่างจากการหมดไฟที่ไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตหรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ อย่างความขัดแย้งในครอบครัว หรือการสูญเสียคนรัก ก็อาจทำให้เกิดความเศร้าและความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมายจนต้องประสบกับภาวะดังกล่าวได้ด้วย
แม้ว่าภาวะ Passive Death Wish จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็สามารถรับมือได้ด้วยแนวทางต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นได้จากการสำรวจความคิดและมวลความสุขของตนเองในแต่ละวันก่อน หากว่ามันเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการไม่มีแรงจูงใจในการเรียนหรือทำงาน มีความคิดที่แวบเข้ามาในหัวบ่อย ๆ ว่าอยากตาย เกิดอาการนอนไม่หลับหรือหลับยากมากขึ้น ก็ควรที่จะไปหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะพบจิตแพทย์หรือที่ปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อให้อาการดังกล่าวลดลงหรือหายไปได้
คนที่กำลังประสบกับภาวะนี้อยู่ ยากที่จะเป็นผู้ให้กำลังใจคนอื่น ไม่สามารถบอกได้ว่าเรื่องดี ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะตัวของเขาเองก็ยังเยียวยาตัวเองไม่ได้เลย หากมีคนรอบตัวที่กำลังประสบอาการนี้ ขอแค่ได้อยู่ข้าง ๆ เขา รับฟังและไม่จำเป็นต้องตัดสิน เพียงเท่านี้ก็อาจจะพอเยียวยาให้ความเครียดที่เขากักเก็บเอาไว้ค่อย ๆ ลดลงได้บ้าง
---
About the author: ฬ. Jula